อบก. ดัน "คาร์บอนเครดิต" สร้างอีโคซิสเต็ม สู่เป้า Net zero
หนึ่งในแนวทางที่จะทำให้ไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" ในปี 2050 และ Net zero ในปี 2065 คือ การส่งเสริมตลาดคาร์บอน โดยล่าสุด อบก. เตรียมลงนาม สภาอุตฯ ดันตลาดซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ตั้งเป้าเพิ่มเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย จาก 271 องค์กร สู่ 300 องค์กร
วานนี้ (19 ก.ย. 65) นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวในช่วงเสวนา “แผนพลังงานชาติสู่ความยั่งยืน” ภายในงาน NEW ENERGY แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน โดยระบุถึง โอกาสประเทศไทยกับการพัฒนา พลังงานสะอาด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีหน้าที่ผลักดันให้เกิดโครงการที่ทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดรับนโยบายของทางรัฐบาลที่ประกาศไว้ใน COP26 คือ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี 2065
ก๊าซเรือนกระจกของโลก มี 2 กลุ่ม คือ การปล่อย และ การดูดกลับ ขณะนี้การปล่อยมากกว่าการดูดกลับ ปัจจุบันไทยปล่อยอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านตันต่อปี ยังเหลือที่ยังปล่อยได้อีกราว 500 กิ๊กกะตัน หากปล่อยมากกว่านี้อุณหภูมิโลกกจะสูงเกิน 1.5 องศา หมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตและก๊าซเรือนกระจกต้องลดลง ภาคพลังงานต้องลดลง และต้องทำงานหนัก แต่ความจริง ยังต้องมีการปล่อยอยู่ดี ดังนั้น จึงต้องทำการกักเก็บ
สร้างอีโคซิสเต็ม สู่เป้า Net zero
นายเกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ง่ายคือปลูกต้นไม้ ประเทศไทยมียุทธศาสตร์เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มศักยภาพในการดูดกลับ และใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS ของ กระทรวงพลังงาน สุดท้าย โลกเราก็หนีไม่พ้นในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน รถอีวี และ พลังงานไฮโดรเจน การลงทุนใหม่เรื่องฟอสซิลจะค่อยๆ หายไป
"สำหรับจุดแข็งของไทยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จำเป็นที่ต้องลดในจุดที่เรามีศักยภาพสูงสุดและมีต้นทุนต่ำ และต้องทำให้ค่าไฟฟ้าและค่าพลังงานของต้องแข่งขันได้ด้วย เช่น การจัดการขยะ เศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อต้นทุนต่ำลงก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน"
นายเกีรยติชาย กล่าวต่อไปว่า อบก. ในฐานะองค์กรหลักในการควบคุมมาตรฐานการประเมินสิ่งที่จะทำให้ทุกคนมาสู่เป้าหมาย ต้องส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเต็ม วันนี้ทั่วโลกเห็นแล้วว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหา ดังนั้น ทิศทางทั่วโลกพยายามกดดันให้ผู้ปล่อยจะต้องรับผิดชอบ องค์กรต่างๆ มีความกดดันในการตั้งเป้าลดการปล่อย และส่งเสริมให้มีการลดด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะกฎหมายบังคับ เสียภาษี การรายงาน และการรวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุนองค์กรที่ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอยู่ โดย สหภาพยุโรป หรือ อียู เป็นผู้นำเป็นตัวอย่างสร้างกฎหมายเพื่อให้เข้าไปสู่จุดลดคาร์บอนด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
พัฒนาตลาด คาร์บอนเครดิต
มาตรการหนึ่งที่ช่วยได้ คือ การแลกเปลี่ยนความสำเร็จหรือกลไกตลาด เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” อบก. มีการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของกลุ่ม เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network) กว่า 271 องค์กร โดยพยายามร่วมมือในการลดต้นทุน รวมถึงสนับสนุนให้องค์กรใหม่ๆ ตั้งสตาร์ทอัพการลงทุนเพื่อไปสู่พลังงานสะอาด สร้างเครดิต ประเมินเครดิต และนำเครดิตเหล่านี้ไปขายองค์กรใหม่
“ตอนนี้ตลาดการซื้อขายคาร์บอนตื่นตัวมาก ตั้งแต่ ก.ค. 64 ที่มีการจัดตั้ง เครือข่ายฯ ทุกองค์กรมองว่าการลดก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นสิ่งสำคัญ ปีที่ผ่านมา ได้คาร์บอนเครดิตราว 4 ล้านตัน ล่าสุด 21 ก.ย.นี้ จะมีการลงนามกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการทำตลาดเทรดดิ้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ พยายามสร้างมาตรฐาน ตลาด ให้เร็วและง่ายขึ้น”
"ปัจจุบันมีคนทำโปรเจคมากขึ้น และเรากำลังทำอีโคซิสเต็มของการเทรดและพัฒนาระบบมาตรฐานคาร์บอนเครดิตระดับโลก นอกจากลดต้นทุนในประเทศ ยังสามารถแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่น เช่น สวิสเซอร์แลนด์ โดยสามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างประเทศได้ โดยตั้งเป้าองค์กรที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 300 องค์กร ทำให้ต้นทุนของไทยลดลง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้” นายเกียรติชาย กล่าว