เปิดปัจจัยใครทำร้ายทะเล ผงะ4แสนกิโลกรัมขยะตกค้างกลางทะเล

เปิดปัจจัยใครทำร้ายทะเล  ผงะ4แสนกิโลกรัมขยะตกค้างกลางทะเล

ท้องทะเลที่สดใส ด้วยลำแสงระยิบระยับล้อไปกับเกลียวคลื่น เป็นภาพที่น่าชื่นใจทุกครั้งที่ได้เห็น ชายหาดนุ่มด้วยผืนทรายทำให้ชื่นใจทุกครั้งที่ไปเยือน แต่ภาพเหล่านี้อาจไม่อยู่กับเราไปได้นานเพราะปัญหาขยะทะเล ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง

ข้อมูลจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ ที่ได้รับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งนั้น ได้เผยให้เห็นว่าสถานภาพด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ที่สามารถแบ่งได้เป็น  ด้านคุณภาพน้ำทะเล ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี 75% เกณฑ์พอใช้ 22%  และเกณฑ์เสื่อมโทรม 3%  ทั้งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2557-2564 พบว่า โดยรวมคุณภาพน้ำทะเลมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคงที่

ด้านน้ำมันรั่วไหล และก้อนน้ำมันดิน พบว่าเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดิน รวม 44 ครั้งโดยจากการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานภาพของน้ำมันรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดระยองและชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลจากการเดินเรือ เข้าออก เรือขนส่งสินค้า เรือประมง และเรือท่องเที่ยว รวมถึงการเดินเรือเพื่อขนส่งน้ำมัน

สำหรับก้อนน้ำมันดินนั้นก็คือ การแปรสภาพตามธรรมชาติของน้ำมันหรือคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของเรือเดินสมุทร หรือการรั่วไหลโดยธรรมชาติใต้ ท้องทะเล เมื่อเวลาผ่านไปคราบน้ำมันที่กระจายตัวอยู่บนผิวน้ำจะเปลี่ยนสภาพเป็นก้อนน้ำมันดิน ซึ่งมีลักษณะเหนียวนุ่ม มีความหนืดสูง เนื่องจากองค์ประกอบส่วนเบาได้ระเหยไปบางส่วน เหลือส่วนหนักที่มีองค์ประกอบคล้ายยางมะตอย

ด้านน้ำทะเลเปลี่ยนสี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีเปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอนพืชที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล เช่น ออกซิเจนและความเข้มของแสงที่ส่องผ่านในน้ำลดลง บางกรณีจำนวนแพลงก์ตอนที่เพิ่มขึ้นสามารถสร้างสารพิษที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำและถ่ายทอดผ่านมาถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้ายนั้น พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยรวม 25 ครั้ง(ส่วนใหญ่เกิดในจังหวัดชลบุรี) ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันไม่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี

ด้านแมงกะพรุนพิษ   พบการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง ระหว่างปี 2542-2564 รวม 46 ราย(ผู้เสียชีวิต จำนวน 10 ราย และบาดเจ็บรุนแรง จำนวน 36 ราย) ทั้งนี้ในปี 2564 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 รายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ส่วนด้านที่น่าเป็นห่วงสูงสุดและเราทุกคนน่าจะช่วยกันได้คือ ขยะทะเล ซึ่งรายงานบอกไว้ว่า ในปี 2564 สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม

ขยะที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่มแก้ว นอกจากนี้พบขยะที่ไหลผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 52.65 ล้านชิ้น/ปีซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากกว่าในช่วงปี 2563 เนื่องด้วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นด้วย และส่งผลให้จำนวนชิ้นขยะลอยน้ำในภาพรวมจากทุกปากแม่น้ำมีปริมาณสูงกว่าปี 2563

จากปัจจัยทำร้ายทะเลที่ระบุในรายงานส่งต่อไปถึงรัฐบาลจะมีหลายสาเหตุและความรุนแรงที่ต่างกันไปแต่สิ่งที่ต้องร่วมกันจากนี้ไม่ใช่การหมดกำลังใจแต่ต้องมองหาช่องทางเพื่อเริ่มจากตัวเองที่อาจดูไม่ส่งผลกระทบใดแต่หากร่วมกันหลายๆคนก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างและรักษาท้องทะเลที่สวยงามไว้ได้