แชร์วิชั่น “เอสซีจี” พูดแล้วทำสู่ความยั่งยืน
ฉายภาพการเดินหน้าธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอสซีจี ต้องมองภาพร่วมกัน ตั้งเป้าหมายให้ชัดเหมือนเป้าหมายการทำธุรกิจ เลือกลงทุนในสิ่งที่สร้างผลกระทบและทำในสิ่งที่พูด
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวทีเสวนาระหว่างผู้บริหารบริษัทชั้นนำของประเทศ “Ceo Panel Discussion: Leading Sustainable Business” ในงานSustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 ว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการตอบคำถามว่าทำไม ทำไมเราต้องทำเพื่อความยั่งยืน ทำไมเลือกลงทุนกับสิ่งนี้ ท่ามกลางภาวะโลกร้อนและโลกรวนซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่สูงมาก และความไม่แน่นอนในที่นี้ไม่ใช่เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแต่เป็นเรื่องของระยะเวลาของความผันผวน
โดยบริษัทจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน ซึ่งบางอย่างที่ทำแล้วเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก แต่กลับทำไม่ตอบสนองด้านรายได้ หรือบางอย่างทำรายได้ดีมากแต่ไม่ได้ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก ซึ่งสุดท้ายแล้วจะต้องมองย้อนกลับไปที่วิสัยทัศน์ขององค์กรว่าต้องการเดินไปข้างหน้าอย่างไร ซึ่งในวิกฤติที่เรากำลังเผชิญถ้ามองให้ดีมันคือโอกาส โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
“เอสซีจีตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยจะลดการใช้ถ่านหินลงเรื่อยๆ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นในการผลิตซีเมนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้พลังงานสูงและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด”
ทั้งนี้ การเดินหน้าสู่เส้นทางเน็ตซีโร่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและติดตามผลให้เหมือนกับการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ โดยแบ่งเป็นเป้าหมายในระยะสั้น ในอีก 8 ปีข้างหน้า เอสซีจีจะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ 20% ซึ่งเมื่อบริษัทมีเป้าหมายแล้วสุดท้ายการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ก็จะตามมา
สำหรับคำแนะนำที่อยากบอกกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กการเปลี่ยนโครงสร้างด้านพลังงานไม่ได้ทำง่าย เพราะธุรกิจไม่ได้มีทุนเยอะ แต่สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือให้มองย้อนกลับไปที่พื้นฐานในการทำธุรกิจ โดยตั้งต้นจากลูกค้า เริ่มจากการสำรวจความต้องการและปัญหา (pain points) ของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทั้งในแง่ของสินค้า การใช้งาน และการรีไซเคิล
โดยการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้เข้าไปจับเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งการมีจุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่าย จะเป็นตัวอย่างของเคสที่ประสบความสำเร็จเล็กๆ และเริ่มมีการขยายต่อไปในองค์กรได้