"ขยะพลาสติก" ทิ้งแล้วไปไหน ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
จากการศึกษาของ Ocean Conservancy พบว่าปี 2016 มีปริมาณ "ขยะพลาสติก" มากถึง 242 ล้านตัน โดย 3 อันดับ ประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 34 ล้านตัน สหภาพยุโรป 30 ล้านตัน อินเดีย 26 ล้านตัน ขณะที่ ไทย อยู่อันดับที่ 12 กว่า 4.8 ล้านตัน
ภายในงาน Reuse Revolution ลด(พลาสติก) ให้กระหน่ำ จัดโดย กรีนพีซ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. – 9 ต.ค. 65 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) ให้ความรู้เกี่ยวกับ ขยะพลาสติก พบว่า ขยะพลาสติก 100% ถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 14% และจากขยะที่นำไป รีไซเคิล มีไม่ถึง 2% เท่านั้น ที่เป็นการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่วนใหญ่กว่า 40% ถูกนำไปฝักกลบในหลุม
- 32% หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม
- 14% ถูกนำไปเผา
พลาสติกไปอยู่ที่ไหนในธรรมชาติ
หลายคนอาจคิดว่า เมื่อพลาสติกหลังถูกทิ้งคงสลายหายไป ไม่สามารถกลับมาทำร้ายเราได้ แต่ในความเป็นจริง พลาสติกเหล่านั้นวนเวียนอยู่ในธรรมชาติ แตกออกกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กมาก เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” และเดินทางกลับมาหาเราในรูปแบบของอาหาร
ไมโครพลาสติก แฝงอยู่ที่ไหนบ้าง
- อาหารและน้ำดื่ม
- เกลือของหลายประเทศทั่วโลก
- อุจจาระของคน 10 กรัมอาจมีไมโครพลาสติกมากถึง 20 ชิ้น
- เลือดมนุษย์ 100 คน พบว่า 80 คน มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนในเลือด
กรอบ EPR ขยายความรับผิดชอบผู้ผลิต
"พิชามญชุ์ รักรอด" หัวหน้าโครงการลดมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวในช่วงเสวนาในหัวข้อ “The Crisis of Convenience วิกฤตความสะดวกสบาย” เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 65 โดยระบุว่า ความรับผิดชอบของผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องพูดถึงในตอนนี้ มลพิษพลาสติกนับวันยิ่งทวีคูณ โดยเฉพาะมลพิษพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีการผลิตและใช้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน บรรจุภัณฑ์เหล่านี้บางส่วนหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศและชุมชนโดยรอบ กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายและการจัดการปลายทางของหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เทศบาล หรือชุมชน
"ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) ดังนั้น ทั้งผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์จึงไม่มีภาระรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ตนเองหลังใช้งาน การป้องกันมลพิษพลาสติกต้องทำที่ต้นทาง เริ่มจากการที่ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าลดใช้พลาสติก มิเช่นนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถต่อกรกับมลพิษพลาสติกได้เลย”
ลดพลาสติก เริ่มจากต้นทาง
การแก้ปัญหาวิกฤตพลาสติก แก้ไม่ได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาครัฐ เพื่อออกแบบเส้นทางพลาสติกใหม่ ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงการจัดการเมื่อเป็นขยะ
ภาครัฐ
- บังคับใช้นโยบาย จัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ออกกฎหมายควบคุมและให้ความสำคัญกับนโยบายขยายความรับผิดชอบผู้ผลิต (EPR)
ผู้ผลิต
- ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- รับคืนบรรจุภัณฑ์ของตนเอง เพื่อนำไปจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
- เน้นการให้บริการที่ส่งเสริมการใช้ซ้ำ
- เปิดเผยข้อมูลรอยเท่าพลาสติก (Plastic Footprint) ให้คนเข้าถึงได้
ผู้บริโภค
- ลดใช้ ใช้ซ้ำ ซ่อมแซม เพื่อลดขยะให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
- แยกขยะเพื่อสำรวจพฤติกรรมของตนเอง เพื่อนำไปสู่การลดขยะพลาสติกในอนาคต
“ดร.เพชร มโนปวิตร” นักวิชาการสายสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ReReef ให้ความเห็นว่า ปัญหาขยะพลาสติก เป็นตัวแทนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนมักประเมินความซับซ้อนในการแก้ปัญหาต่ำเกินไป เรารู้สึกว่าแค่ทิ้งให้ลงถัง สร้างจิตสำนึก แต่ความจริงเมื่อมองย้อนกลับไปเราจะเห็นการรณรงค์เหล่านี้ตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน ถูกนำมาแทนที่และกลายเป็นวัฒนธรรมที่สร้างความสะดวกสบายจนเราเคยชิน ดังนั้น ต้องผลักดันด้านนโยบาย ให้คนที่ได้ประโยชน์หรือคนที่ได้กำไรจากการใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ร่วมรับผิดชอบ
สำหรับการแยกขยะ “บันไดขั้นแรก” คือ การแยกขยะเปียก ออกจากขยะแห้ง เพื่อลดการปนเปื้อนเน่าเหม็น และขณะนี้ กทม. เริ่มรณรงค์ไม่เทรวม ขยะเกือบครึ่งที่เราสร้างกันทุกวันเป็นขยะเศษอาหารที่ย่อยสลายได้ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาวิกฤตพลาสติกมีหลายชั้น แต่ทุกคนมีบทบาททั้งสิ้น การพูดคุยและหาทางออก ถือเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน
How to แยกขยะที่บ้าน
1. ก่อนทิ้งขยะลงถัง แยกขยะเปียก เช่น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ และขยะแห้ง ออกจากกัน
2. ถังขยะแห้งแบ่งได้เป็นขยะหลายชนิด
- กระดาษทั่วไป
- กระดาษลัง
- ขวดแก้ว
- อลูมิเนียม
- พลาสติก