"วราวุธ" กางแผนจัดการ "ขยะพลาสติก-อิเล็กทรอนิกส์" รับมือ Climate change
"วราวุธ" ตั้งเป้า ปี 2568 ไทยเลิกนำเข้า "ขยะพลาสติก "และ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" 100% ผลักดันหมุนเวียนและการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ เตรียมนำเสนอแนวทางความยั่งยืน ภายใต้กรอบ SDG ในการประชุม COP27 ที่อียิปต์ พร้อมสร้างแนวทางความร่วมมือรับ Climate change
ที่ผ่านมา นโยบายของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดการพลาสติก ผ่านการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการแก้ไขปัญหา อาทิ การห้ามใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว การสร้างมาตรฐานการผลิตพลาสติก การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิล (Recycle) และอัพไซเคิล (Upcycle) และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ
นอกจากนี้ มีการผลักดันการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การผลักดันและสนับสนุนการจัดตั้งตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ ทั้งนี้ UNEP พร้อมที่จะสนับสนุนด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึง สนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในช่วงเสวนา "Sustaining Sustainability : How and Who?" ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 65 ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใจความว่า การแก้ไขปัญหา ขยะพลาสติก การผลักดันเรื่อง คาร์บอนเครดิต ในประเทศ และเชื่อมโยงกับนานาชาติ ตามความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรฯ ได้ทำตามนโยบายและทำงานอย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยลงมือทำจริง
"หลายประเทศที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ขณะนี้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ข้อสรุปแล้วว่า ในปี พ.ศ.2568 หรือ 3 ปีต่อจากนี้ เราจะหยุดนำเข้าขยะพลาสติกทุกชนิด 100% เพื่อให้มีการผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนขยะพลาสติกในประเทศไทย ตามโรดแมปของการรีไซเคิลขยะพลาสติก เป็นต้น"
แนวทาง EPR ลดปัญหาขยะพลาสติก
รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า แนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการ Ectended Producer Responsibility หรือ EPR ขณะนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญของไทย ในการลดปริมาณขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นจากการบริโภคในประเทศ ดังนั้นหัวใจสำคัญของ EPR คือการทำให้ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่เป็นเรื่องของการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ มาทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้
เตรียมพร้อม COP27
ขณะเดียวกัน เรื่องแนวคิดความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางของประเทศไทยและรัฐบาลไทยที่ดำเนินภายใต้กรอบ SDG ในทุกข้อ และช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ จะนำกลับไปนำเสนออีกครั้งที่ COP27 ที่อียิปต์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยของเรานั้น นอกจากเรื่อง Climate change แล้ว SDG ทั้ง 17 ข้อ เราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
“เรามีการรายงานระดับชาติในทุกๆ ปีให้กับทางสหประชาชาติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยแม้เป็นประเทศเล็กๆ แต่ความตั้งใจจริงของพี่น้องประชาชนกว่า 60 ล้านคน เราจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง climate change การดูแลพี่น้องประชาชน ชีวิตบนบก ชีวิตในน้ำ รวมไปถึงการผลิตที่ยั่งยืน” นายวราวุธ กล่าว
สร้างแนวทางรับมือ Climate change
ในวันเดียวกันนี้ ยังได้มีการหารือ กับ นายปีเตอร์ ซีย้าตโต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า ประเทศฮังการี เพื่อสร้างแนวทางความร่วมมือด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับ ร่วมแลกเปลี่ยนถึงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งมีความพยายามที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากแม้ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก แต่อยู่ในลำดับที่ 9 ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายวราวุธ เผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการทำความตกลงร่วมกับสมาพันธรัฐสวิส ภายใต้การดำเนินงานตามข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจก และให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมการใช้ พลังงานสะอาด และ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ E-Bus ในกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อีกทั้ง ยังได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำโดยเฉพาะ การบริหารจัดการน้ำบาดาล เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคที่สำคัญของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤตขาดแคลนน้ำ
โดย รมว.การต่างประเทศและการค้า ฮังการี ได้กล่าวถึงนโยบายการใช้พลังงานของประเทศฮังการี ที่เน้นการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหลัก เนื่องจากไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำได้ ด้วยฮังการีมีแม่น้ำดานูบเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ยังได้แลกเปลี่ยนถึงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของฮังการี รวมถึงเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำ ทั้งการหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดการน้ำเสีย โดยหวังว่าในอนาคตจะได้สร้างความร่วมมือร่วมกันต่อไป