ยั่งยืนบน ความหลากหลาย หัวใจการลงทุน แห่งอนาคต

ยั่งยืนบน ความหลากหลาย หัวใจการลงทุน แห่งอนาคต

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไม่แพ้ปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” คือ วิกฤติการถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อมูลจาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ระบุถึงสถานการณ์ระบบนิเวศของโลก ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ข้อมูล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ลดลงถึง 68% ระหว่างปี 1970 -2016 หรือลดลงกว่า 2 ใน 3 ในแถบเอเชียแปซิฟิก นักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรธุรกิจเอง เริ่มตระหนักแล้วว่าระบบนิเวศ คือ ต้นทุนทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมถึงเป็นฐานทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจโลก โดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ประเมินว่า GDP ของโลก กว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ

“ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร” รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวภายในงาน สัมมนาออนไลน์ (Webinar) หัวข้อ “Investment in Nature and Biodiversity” จัดโดย สหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN in Thailand) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก แห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand)

โดยระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ธรรมชาติถูกคุกคามอย่างหนัก การลงทุนเพื่อปกป้องฟื้นฟูธรรมชาติ จะตอบแทนด้านเศรษฐกิจได้ถึง 30 เท่า สำหรับประเทศไทย ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นกลไกหลักทางเศรษฐกิจ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในแหล่งท่องเที่ยวอาจนำไปสู่การปิดพื้นที่ เพื่อฟื้นฟู

เช่น กรณีอ่าวมาหยา ซึ่งนับเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก รวมถึงนิเวศบริการต่างๆ ที่จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน เห็นได้ว่าการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการขับเคลื่อนความสามารถทางเศรษฐกิจ และพัฒนาธุรกิจ ที่ทุกองค์กรต้องร่วมมือกันเพื่อมนุษย์ชาติ

 

  • ตระหนักถึงต้นทุนธรรมชาติ

"ดร.เพชร มโนปวิตร" ผู้จัดการโครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ เผยถึง ความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศบริการ มักจะไม่ได้รับการเห็นคุณค่าและถูกมองว่าได้มาฟรี จึงเกิดต้นทุนที่ไม่มีใครรับผิดชอบ

การกำหนดนโยบายเมื่อมองข้ามส่วนนี้ไป ทำให้ไม่มีการบูรณาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปในเรื่องของนโยบาย และภาคปฏิบัติ สะท้อนไปยังภาคส่วนต่างๆ ที่ยังไม่ตระหนักหรือต้นทุนธรรมชาติและระบบนิเวศบริการที่สูญเสียไประหว่างการดำเนินธุรกิจ รวมถึงซัพพลายเชนด้วย

อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งให้ประเทศภาคีตระหนักถึงระบบนิเวศบริการและความหลากหลายทางชีวภาพ และวางแผนยุทธศาสตร์จัดการความหลากหลายทางชีวภาพแบบบูรณาการมากขึ้น

ยั่งยืนบน ความหลากหลาย หัวใจการลงทุน แห่งอนาคต

ทำให้เกิด “โครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ” (National Ecosystem Assessment: NEA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน ร่วมกับ UNEP และ UNESCO ต้องการที่จะให้เกิดความแบ่งปันความรู้ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพ นโยบาย และผู้ที่มีส่วนตัดสินใจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่น การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน พัฒนาศักยภาพแบ่งปันประสบการณ์ บทเรียน ด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่ผ่านมา และการมีส่วนร่วมระดับสากล โดยประเทศไทยมีการพูดคุยและโฟกัสในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

อีกทั้งเกิด แพลตฟอร์มนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการระบบนิเวศ (IPBES) เพื่อให้วิทยาศาสตร์และระดับนโยบายเข้าใจกันมากขึ้น นำองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับนโยบายให้ทันสมัยมากขึ้น

 

  • ยุทธศาสตร์รักษาระบบนิเวศ

“ดร.ภัทรินทร์ ทองสิมา” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดทำแผน 4 ฉบับ ตอบโจทย์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน

โดยประเด็นสำคัญตาม 3 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ “กลไกทางการเงิน” จัดการกลไกทางการเงิน ศึกษาประเมินต้นทุนธรรมชาติ ธนาคารต้นไม้ ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) พันธบัตรป่าไม้ และจ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศ การสนับสนุนของภาคเอกชน ทำให้กลไกทางเงินมีผลทางรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะสนับสนุนการท่องเที่ยว ชุมชน ดูแลรักษาทรัพยากร

“การอนุรักษ์ ฟื้นฟูชนิดพันธุ์ที่อยู่อาศัย” คุ้มครองสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จ ในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก ช้าง กระทิง ฯลฯ ขยายพันธุ์พืชในเขตระนอง พังงา เป็นต้น 

และ “มาตรการกลไกนำผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคืนสู่แหล่งกำเนิด” เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน มีการประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทยอยู่ที่ 0.5% ของงบประมาณทั้งหมด หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP ซึ่งแนวโน้มเห็นชัดว่าลดลง ดังนั้น อาจต้องมีการจัดสรรงบประมาณจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยเหลือด้านนี้

“การดำเนินการต่อไป คือ การตอบโจทย์ SDGs ในเรื่องของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม จะต้องมีปริมาณลดลง และเพิ่มพื้นที่คุ้มครองบนบกและทะเลให้ถึง 30% และการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ ที่สร้างผลกระทบในเชิบบวกและความยั่งยืนในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพถิ่นที่อยู่อาศัย ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้” ดร.ภัทรินทร์ กล่าว