เปิด 4 เหตุผลหลัก “ปตท.” เร่งเป้า Net Zero เร็วกว่าประเทศ 15 ปี
การที่ ปตท. ได้ประกาศเป้า Net Zero ในปี 2050 ที่เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทยถึง 15 ปี วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ขอยก 4 เหตุผลหลักสำคัญ ซึ่งไม่รวมเหตุผลอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ กลุ่มปตท. ถือเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่มีการปล่อยคาร์บอนปีละ 45 ล้านตัน หรือ 18% โดยเฉพาะปตท.เองมีการปล่อยคาร์บอนประมาณปีละ11.6 ล้านตัน
นอกจากนี้ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการลดอุณหภูมิ ซึ่งจากผลสำรวจปี 2019 พบว่าประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 ส่งผลกระทบต่อ GDP ประเทศลดลง 10% คิดเป็นเม็ดเงินสูญเสียกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ และจากตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกปีละ 3.6 หมื่นล้านตัน ส่วนไทยปล่อยที่ 247 ล้านตัน
ดังนั้น กลุ่ม ปตท. จึงได้ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศที่ตั้งเป้าหมายในปี 2065
การที่ปตท.ได้เร่งเป้า Net Zero เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 15 ปี ปัจจัยหลัก ๆ
มาจาก 1. ช่วยลดปัญหาโลกร้อน ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ 2. ช่วยดันเป้าหมายรวมของประเทศไทยให้ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะองค์กรเล็ก ๆ ที่อาจจะทำไม่ได้ การที่ปตท.ทำได้ก่อนถือเป็นการดึงค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศไทยได้
3. ช่วยแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้า เนื่องจากนโยบายมาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน CBAM หรือการที่ผู้ผลิตสินค้าในแต่ละประเทศหากจะส่งไปยุโรปจะถูกปฏิเสธหากสินค้านั้น ๆ มีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก หรืออาจจะต้องเสียภาษีคาร์บอนที่อาจจะไม่คุ้มค่ากับต้นทุน เป็นต้น และ 4. สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรควบคู่ไปกับสังคมไทย
นายอรรถพล กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประกอบด้วย 3P ได้แก่ 1. Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
2. Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ โรงไฟฟ้าในกลุ่มปตท.ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าปี 2026 เพิ่มเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และปี 2030 เป็น 12,000 เมกะวัตต์ และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50% และ
3. Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. ซึ่งแต่ปี 2537 ปตท. ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่า 80% สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจนต่อปี
นอกจากนี้ ยังสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี โดยกลุ่ม ปตท. มุ่งปลูกป่าเพิ่มเติมรวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นปตท. 1 ล้านไร่ และกลุ่ม ปตท. 1 ล้านไร่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ปตท. ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งปตท. เป็นประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) เครือข่ายองค์กรชั้นนำระดับประเทศจากภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น รวม 275 องค์กร มุ่งเป็น “เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero” ผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเร่งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อภาครัฐ ยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน
ทั้งนี้ ปตท.ประสบผลสำเร็จด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ การแพทย์ การเกษตรอัจฉริยะ วัสดุและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ Circular livingด้วย