อุณหภูมิของน้ำทะเลกับอนาคตของเรา | ไสว บุญมา
การทบทวนผลการวิจัยจำนวนมากสรุปว่าน้ำทะเลร้อนขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคิด นั่นหมายถึงภาวะโลกร้อนที่ร้ายแรงขึ้นเร็วกว่าที่คาดกันไว้ด้วย
ทั้งนี้เพราะน้ำทะเลเป็นตัวดูดซับกว่า 90% ของความร้อนส่วนเกินที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วารสารวิชาการเกี่ยวกับธรรมชาติชื่อ Nature Reviews ตีพิมพ์ผลงานของผู้เชี่ยวชาญ 15 คนจากจีน สหรัฐ ฝรั่งเศสและออสเตรเลีย
ซึ่งร่วมมือกันทบทวนผลการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านอุณหภูมิของน้ำทะเล การร่วมมือกันนั้นอยู่เหนือการเมืองระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแต่ละประเทศมักมีวาระต่างกัน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจที่กำลังขัดแย้งกันสูง เช่น จีนและสหรัฐ
ผลของการทบทวนบ่งว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วและแนวโน้มขณะนี้ชี้ชัดว่ามันกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งซึ่งในที่สุดอาจจะเป็น 2 ถึง 6 เท่าของระดับที่เพิ่มขึ้นในอดีต
การเพิ่มขึ้นนี้มิใช่เฉพาะในส่วนที่เป็นผิวของน้ำทะเลเท่านั้น หากยังเป็นในส่วนที่อยู่ลึกลงไปมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
ยิ่งกว่านั้น แนวโน้มยังบ่งอีกว่า การเพิ่มขึ้นนี้จะยังดำเนินต่อไปอีกหลายสิบปี แม้มนุษย์เราจะลดกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปในอากาศตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ณ นครปารีสเมื่อหลายปีก่อนก็ตาม
อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นนี้อาจมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละพื้นที่ เช่น เขตที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดจะเป็นทางด้านเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกและทางทะเลใต้ซึ่งรวมพื้นที่ของมหาสมุทรทั้งหมดที่อยู่ใต้เส้นรุ้งที่ 35 องศาใต้
การเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปหลายด้านด้วยกัน เช่น ด้านแรกเป็นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลโดยทั่วไปซึ่งจะเกิดจาก 2 ทางคือ การขยายตัวของน้ำเมื่ออุณหภูมิของมันเพิ่มขึ้นและการละลายของน้ำแข็งทั้งในส่วนที่อยู่ในย่านขั้วโลก และส่วนที่เกาะตัวอยู่เป็นธารน้ำแข็งบนพื้นที่สูง
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะทำให้น้ำท่วมทุกอย่างที่ตั้งอยู่ในที่ต่ำตามย่านชายทะเลซึ่งคาดว่าจะรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย
ด้านที่สอง กระแสน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศในทะเล เช่น จะเกิดปรากฏการณ์การบานของสาหร่ายทะเลบ่อยขึ้นและอย่างกว้างขวางขึ้น การบานนี้มีพิษต่อสัตว์ทุกอย่างรวมทั้งปะการังยังผลให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ที่อาศัยทะเลยังชีพ
ด้านที่สาม ภูมิอากาศโดยทั่วไปถูกกระทบอย่างหนักก่อให้เกิดลมพายุบ่อยขึ้นและร้ายแรงมากขึ้น พร้อม ๆ กับฝนตกหนักมากในบางพื้นที่ในระยะเวลาสั้น ๆ
ในขณะเดียวกันก็เกิดความแห้งแล้งร้ายแรงในพื้นที่บางแห่งของโลกด้วย นอกจากความเสียหายโดยตรงจากความแรงของพายุแล้วยังมีความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในวงกว้างอีกด้วย นอกจากนั้น การผลิตอาหารยังถูกกระทบสูงโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีประชนชนยากจนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่แล้ว
สำหรับด้านนี้ มีการนำตัวอย่างของความเกี่ยวพันกันโดยตรงระหว่างการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของน้ำทะเลกับภาวะอากาศเปลี่ยนเมื่อปี 2560 มาเสนอ กล่าวคือ ในเดือนสิงหาคมปีนั้น อุณหภูมิของน้ำทะเลในอ่าวเม็กซิโกขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
พร้อม ๆ กันนั้นก็เกิดพายุใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายสูงเป็นประวัติการณ์ต่อพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐโดยเฉพาะในมลรัฐเท็กซัส ชาวอเมริกันเสียชีวิตกว่า 100 คนและความเสียหายต่อทรัพย์สินประเมินได้เกิน 1.25 แสนล้านดอลลาร์
ข้อสรุปที่ว่าแม้มนุษย์เราจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมจนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามข้อตกลง ณ นครปารีสแต่อุณหภูมิโลกจะยังเพิ่มขึ้นไปอีกหลายสิบปี อาจทำให้เกิดคำถามว่าเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออะไรในเมื่อมันจะไม่เกิดผลดี
ประเด็นนี้นักวิชาการย้ำเน้นอีกว่า มนุษย์เรายังไม่สิ้นหวังและยังจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่กาอาศ หากทำได้อย่างมีนัยสำคัญในเวลาอันสั้น ผลของมันจะยิ่งลดผลกระทบร้ายแรงดังที่คาดกันไว้ได้มากขึ้น
ในทางตรงข้าม ถ้ายังขืนปล่อยก๊าซนั้นออกไปในระดับที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ผลของมันย่อมร้ายแรงและสุดท้ายมันคงจะทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ไปแบบไดโนเสาร์ในเวลาอีกไม่นานนัก.