WEF เล็งภูมิภาคอาเซียนเป็นกำลังหลักการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

WEF เล็งภูมิภาคอาเซียนเป็นกำลังหลักการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

WEF ระบุการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต้องเกิดขึ้นภายในปี 2030 โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

นายโรแบรโต้ บาคคา ประธานด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตและกรรมการบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี ครั้งที่ 12 “Energy Security and Carbon Sequestration” โดยกลุ่มบางจาก ในหัวข้อ "Global Energy Outlook and Energy Transition" ว่า มี 3 ประเด็นสำคัญที่ WEF ต้องการแบ่งปันในวันนี้ ประกอบด้วย 1. มุมมองระบบพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานในปัจจุบัน (Framwork for understanding the energy system and its transition)  2.สามเหลี่ยมพลังงาน (The energy triangle) 3. บริบทด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (Energy on current context) 

สำหรับประเด็นแรก การทำความเข้าใจในระบบพลังงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนประกอบคือ อุปทาน การส่ง และอุปสงค์ โดยส่วนสำคัญที่ใช้สำหรับการวางแผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานคือ "อุปสงค์" ซึ่งจะต้องคาดการณ์ว่าในอนาคตความต้องการพลังงานจะมาจากกลุ่มไหนเป็นหลัก

ทั้งนี้ รายงานของ WEF ระบุว่า ความต้องการพลังงานในอนาคตจะมาจากการใช้ชีวิตในเมือง กระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการเดินทาง โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (Emerging Markets) ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

"ในปัจจุบัน และทิศทางอนาคตของระบบพลังงานทั่วโลก กำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้มีความต้องการพลังงานที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ"

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต้องการปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญหลายด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน การวางแผนการเงิน การค้นคว้าวิจัยด้านวัตถุดิบ และทรัพยากร การปฏิวัติโมเดลธุรกิจเพื่อการเติบโตทางกำไรในบริบทการทำธุรกิจใหม่ 

และสุดท้ายซึ่งจะเป็นกลไกหลักที่อยากพูดถึงในวันนี้คือ การสร้างโมเดลความร่วมมือใหม่ๆ ในทุกระดับ และทุกภาคส่วน ตั้งแต่บริษัท ภาคอุตสาหกรรม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาครัฐ และความร่วมมือในระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

ประเด็นที่สอง คอนเซ็ปต์เรื่องสามเหลี่ยมพลังงาน สะท้อนคุณลักษณะการใช้ประโยชน์จากพลังงาน ได้แก่ การสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ  การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งการวางแผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญของทั้งสามมิติ

ประเด็นสุดท้าย เรื่องบริบททางสังคมในปัจจุบันซึ่งเรากำลังเผชิญกับการปรับสมดุลของมหาอำนาจในโลก ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงการปรับเปลี่ยนสมดุลด้านพลังงาน อีกทั้งสถานการณ์ดังกล่าวยังนำไปสู่ "วิกฤติพลังงาน"  อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในยูเครนยิ่งซ้ำเติมผลกระทบที่ร้ายแรงต่อประชากร บริษัท รวมถึงระบบเศรษฐกิจทั่วโลก  

ความผันผวนของตลาดที่เกิดจากปัจจัยข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางด้านความมั่นคงทางพลังงานที่กำลังเผชิญ กับความท้าทายหลายด้าน อาทิ ราคาพลังงานที่พุ่งสูง และการร่วมลงนามพันธสัญญาการจัดหาพลังงานสะอาด 

ทั้งนี้ จากรายงานดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกโดย WEF เผยว่า ภายในปี 2030 จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งใหญ่ทั่วโลก ทำให้ในวันนี้การเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตต่อไปได้ มีความมั่นคงทางพลังงาน และบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากทุกภาคส่วน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์