“ภาคธุรกิจ” ยั่งยืนอย่างไร เมื่อกติกาโลก - กติกาธรรมชาติเปลี่ยน

“ภาคธุรกิจ” ยั่งยืนอย่างไร เมื่อกติกาโลก - กติกาธรรมชาติเปลี่ยน

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสภาพสังคมเปลี่ยน กติกาโลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลต่อการทำธุรกิจ ดังนั้น อะไร คือหนทางที่จะไปสู่ทางออกตอบโจทย์ "ความยั่งยืน"

ความท้าทายของ "ภาคธุรกิจ" ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่กฎกติกาโลกที่เปลี่ยนไปทางการค้า สภาพสังคมที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย ส่งผลต่อเนื่องไปยังโครงสร้างสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะแรงงาน และเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงเท่านั้น แต่ยังพบว่า ขณะนี้ เรื่องของการทำธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ และเริ่มมองความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า หากในวันนี้คนที่ปรับตัวได้เร็ว จึงถือว่าได้เปรียบ

 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 65 “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน กล่าวในช่วงเสวนา “Sustainability Development” ในงานหลักสูตร Wealth of wisdom จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ และ ฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า โลกกำลังเผชิญภัยพิบัติที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และสามารถเกิดได้ทุกที่ทั่วโลก สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ อันดับแรก นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นคนแก้ปัญหาโลกร้อน ถัดมา คือนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นคนทำให้โลกร้อน และสามโลกร้อนโลกรวน ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีงานมากขึ้น

 

ไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งที่จะได้รับผลกระทบคือ “เรื่องของน้ำ” เช่น แม้พายุมาถล่มเวียดนาม ฝนก็ตกที่ไทย ไทยกลายเป็นที่ที่น้ำมารวมกัน ค่อนข้างเสี่ยง และระบบของเราไม่มีทางที่จะรับมือได้ ยกตัวอย่าง กทม. รับฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตร หากเกินจะทำให้น้ำท่วมรอระบาย หากตกมา 70 มิลลิเมตร ต้องรอระบายครึ่งชม. และหาก 100 มิลลิเมตร ก็ต้องรอประมาณ 3 ชม. 

 

 

แก้ Mindset แก้โลกร้อน

 

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ทำให้เกิด ภาวะโลกร้อน ดังนั้น การแก้ Mindset ต้องใช้ภาคธุรกิจในการแก้ปัญหาโลกร้อน หากลองคิดภาพง่ายๆ ว่ายุโรป สหรัฐอเมกา เอเชีย แข่งกันมาตลอด ยุโรปแข่งไม่ได้ เทคโนโลยีอยู่สหรัฐอเมกา ยุโรปจึงคิดง่ายๆ คือ สิ่งแวดล้อม ดังนั้น ยุโรปจึงเน้นด้านนี้มายาวนาน การแข่งขันไม่ได้เกิดมาปีสองปี แต่ถูกพูดถึงมากว่า 30-40 ปี

 

“ยุโรป Concern ด้านสิ่งแวดล้อมมานาน เขาถูกปลูกฝังมา 30-40 ปี ดังนั้น บริษัทในยุโรปต้องยอมจ่ายเพื่อคาร์บอน และเริ่มมีบริษัทที่เริ่มไปเปิดบริษัทที่เอเชีย เกิด Green Deal และทำให้ยุโรปแข่งขันกับทั่วโลกได้ ทำให้บริษัทในเอเชียลดการปล่อยคาร์บอน เป็นการสร้างกำแพงการแข่งขันและส่งผลทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม”

 

“แต่ความจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันจะเริ่มลึกซึ้งเรื่อยๆ เป็นการกีดกันทางการค้าสีเขียว แต่ก่อนเรื่องโลกร้อนกับธุรกิจแยกกัน แต่ตอนนี้ธุรกิจเริ่มเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมและเกิดการกีดกันทางการค้า โดยมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง หากไม่มองในด้านความยั่งยืน เราต้องอยู่ในตลาดโลกที่ถูกบังคับ ไม่ตามก็ต้องตาม”

 

“ดังนั้น กติกาสากล เราได้แต่ติดตาม เราไม่รู้ว่าจะเจอพายุอีกกี่ลูก ความแปรปรวน ไม่ใช่แค่สภาพภูมิอากาสอย่างเดียว แต่สร้างให้เกิดการแปรปรวนทางธุรกิจ ทางการลงทุน ทำไมเราต้องปรับตัว เพราะเรากำลังจะเจอมาตการที่เราคาดเดาไม่ได้ หากไม่ปรับตอนนี้ จะรอตอนไหน การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

 

 

ความท้าทายไม่ใช่แค่โลกร้อน

 

“พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความพยายามไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศา เพราะเราจะไปอยู่ในจุดที่ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อมสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเงียบๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการศึกษาว่าประเทศไทยจะมีมรสุมฤดูร้อนเกิดห่างขึ้น 20-40% แต่รุนแรงขึ้น 10% หมายความว่าเราจะแล้งนานขึ้น มีผลต่อภาคเกษตร น้ำจืด ความหลากลายทางชีวภาพ และกระทบมิติสังคม

 

“สังคมบ้านเราเปราะบาง มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ วันนี้เราอยู่ในสังคมสูงอายุ และกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด อยู่ในยุคที่วัยแรงงานถูกกดดันเพราะต้องดูแลสูงวัย เด็กรุ่นใหม่เกิดน้อยลง เด็กที่เกิดอาจจะอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อมพัฒนาเลี้ยงลูก เราอยู่ในสังคมที่เรื่องของแรงงานมีปัญหา โลกเปลี่ยน กติกาเปลี่ยน แรงงานพร้อมหรือไม่ที่จะเปลี่ยน ปรับตัวตาม และเราอยู่ในภาวะที่อยู่ในครอบครัวแหว่ง พ่อแม่ทำงาน ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง”

 

"ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สังคมเปราะบาง โชคดีที่ยังไม่มีอะไรรุนแรงในด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามา แต่หากถึงวันนั้น สังคมไทยพร้อมหรือไม่ มีความต้านทาน รับมือกับสิ่งนี้มากน้อยแค่ไหน"

 

วิกฤติ สู่การเปลี่ยน “กติกาโลก”

 

พิมพรรณ กล่าวต่อไปว่า หากไม่มีวิกฤติซ้อนวิกฤติหลายคนก็จะยังไม่ลุกขึ้นแก้ปัญหา ตอนนี้ผู้นำโลก ผู้นำทางเศรษฐกิจ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนกติกา ใครรู้กติกาใหม่ ฝึกตัวเอง มีสิทธิชนะ เรากำลังมีโอกาสมากมายในการชนะเกมนี้ เพราะกติกาใหม่ ไม่ใช่แค่คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ต้องเติบโตไปด้วยกันทั้งตลาดเงิน ทุน ผู้บริโภค และภาครัฐ

 

ขณะเดียวกัน ในการประชุม COP26 มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องจากสัมผัสได้จริงในวิกฤติความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นำมาสู่การเป็นนโยบาย ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสถาบันลงทุนโดยเฉพาะในต่างประเทศ

 

"ขณะที่ไทย มีเป้าหมายเช่นเดียวกัน และมีแผนชัดเจนออกมา เราจะเห็นว่า วาระแห่งชาติ BCG ก็มาในทิศทางที่ตรงกับทิศทางของโลก แต่ส่วนตัวคิดว่านโยบายทุกอย่างเคลื่อนมาให้ภาคธุรกิจเดินได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ต้องรีบและเร่งเรียนรู้ไปด้วยกัน"

 

กติกาเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยนอย่างไร

 

สำหรับภาคธุรกิจ “พิมพรรณ” อธิบายต่อไปว่า เมื่อกติกาเปลี่ยน หลายอย่างเป็นโอกาส คนที่ปรับได้เร็วกว่า ก็จะมีโอกาสมากกว่า หรือคนที่ทำดีอยู่แล้ว วันนี้นโยบายของบริษัทหลายบริษัทใหญ่ๆ ของโลก ต่อไปนี้จะซื้อจากคนที่ตรวจสอบได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด

 

“Value Chain ทั้งหมดต้องคาร์บอนต่ำ จะเห็นผู้ประกอบการไทยในตลาดหลักทรัพย์ที่รับนโยบาย และกลายเป็นท็อปลิสต์ ของซับพลายเออร์ เห็นคนที่ลุกขึ้นมาเคยจัดการขยะ สามารถสร้างมูลค่า และกำจัดของเสีย เปิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้รายได้จากการกำจัดของเสีย และสิ่งที่เปราะบาง คือ สังคม รัฐ เริ่มตั้งคำถามถึงเป้าหมายที่ธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ จะลดเท่าไหร่ และจะลดลงอย่างไร”

 

2 ทางเลือก ลดการปล่อยคาร์บอน

 

พิมพรรณ กล่าวต่อไปว่า อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นทุกวัน เราต้องลดให้มากที่สุด ตอนนี้ทั้งโลกกำลังพยายามทรานฟอร์ม เปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้มากที่สุด ต้องรู้ก่อนว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ และลดลงให้เหลือศูนย์เท่าไหร่ มี 2 ทาง คือ

 

1. ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) โดยพยายามที่จะลดจากบริการของตัวเอง หรือซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย

2. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำอย่างไรก็ได้เพื่อลดลงให้ต่ำมากที่สุด อาจจะทำเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือใช้นวัตกรรม ไม่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้แล้วแต่ต้องดูดกลับ คาร์บอนซิงค์ (Carbon sink) คือ ปลูกป่าบนดิน หรือ ป่าชายเลนที่สามารถดูดคาร์บอนได้ 10 เท่าของป่าบก และสิ่งที่เรากำลังรออยู่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เทคโนโลยีที่จะดูดกลับเข้าไปใต้ดิน

 

ความยั่งยืน ลงทุนเพื่อผลระยะยาว

 

พิมพรรณ กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตื่นตัว แต่ก้าวแรกจะทำอย่างไร เราเห็นบริษัทใหม่ๆ ลุกขึ้น มีการเขย่าโครงสร้างหลายๆ บริษัท มีภาคธุรกิจหลายคนคุยกัน และเริ่มตอบโจทย์ ESG มากขึ้น ขณะเดียวกัน พบว่า บริษัทใหญ่ๆ ที่ไม่ใส่ใจเรื่อง ESG มีผลต่อราคาหุ้นในต่างประเทศ

 

ในส่วนของประเทศไทยมีหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการประเมินด้านความยั่งยืน โดยมีคุณสมบัติและผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่โดดเด่น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน มีกระบวนการมากมาย เพิ่มโอกาสด้านผลตอบแทนในระยะยาว

 

“ทั้งนี้ หากจะมองว่าการทำด้านความยั่งยืน คือ ต้นทุน แต่ความจริงมันคือการลงทุนสำหรับการเติบโตในระยะยาว กติกาเปลี่ยน หากยิ่งเปลี่ยนเร็ว หากไปก่อน ทำได้ก่อน เราก็ได้ลูกค้า ได้ตลาด เพราะสักวันก็จะโดนบังคับและหากถึงวันที่เขาบังคับต้นทุนจะแพงกว่า ต่อไปนี้ผลิตอะไร คุณจะต้องรับผิดชอบทุกกระบวนการ”

 

หากไม่มองเรื่องความยั่งยืน จะเป็นอย่างไร 

 

พิมพรรณ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ความยั่งยืน เป็นเรื่องของความอยู่รอดบริษัท วันหนึ่งอาจจะหลุดออกไปจาก Value Chain และถูกดิสรัปทันที แม้จะไม่ได้ส่งออกหรือทำการค้ากับต่างประเทศ แต่บริษัทใหญ่ๆ แบรนด์ต่างๆ ต้องจัดการทั้ง Value Chain และซับพลายเออร์ ทั้งเรื่องของ ESG และกฎกติกาที่โหดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ยิ่งปรับตัวเร็วยิ่งดี

 

"ในแง่ของการประกอบธุรกิจ ฟังดูอาจจะมืดมนเพราะกฎเปลี่ยน แต่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นและอยากให้เรารอด การเปลี่ยนผ่านจึงเกิดกลไก ความช่วยเหลือ ความรู้ การเงิน ตอนนี้ภาคธุรกิจหันหน้าเข้าหากันเยอะขึ้น เพื่อนำพาบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ SME ให้เดินไปด้วยกันให้ได้"

 

ตลาดหลักทรัพย์เอง ในด้านของกติกา ต้องให้ความเข้าใจว่านักลงทุนมองหาการเปลี่ยนแผนการลงทุนแบบไหน จัดเวิร์คชอป และมีการส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล นักลงทุนต้องการข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพทันต่อเหตุการณ์ แลพยายามทำให้เกิดการรายงานแบบที่มีมาตรฐาน 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดต้องการที่จะให้ความรู้ด้านนักลงทุนและลูกค้าเพราะมีความสำคัญ

 

“ความเสี่ยงมี 2 อย่าง คือ การเปลี่ยนผ่านกฎกติกา และ การเปลี่ยนของธรรมชาติ เราไม่รู้ว่าน้ำจะหมดตอนไหน คุณภาพดินลดลง คุณภาพสินค้าลดลง เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ESG เป็นกรอบให้เรามองทั้ง Value Chain ให้รอบคอบขึ้น ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คนใกล้ไกล มีใครบ้าง และจัดการอย่างไร” พิมพรรณ กล่าวทิ้งท้าย