สผ. กางโรดแมป 4 แนวทางสำคัญ สู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน"

สผ. กางโรดแมป 4 แนวทางสำคัญ สู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน"

สผ. กางโรดแมป ขับเคลื่อนไทย สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้า ในปี 2050 กว่า 74% ของการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียน และยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เตรียม 4 แนวทางระยะยาว นโยบาย การเงิน เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วม เดินหน้า Net zero ในปี 2065

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันนี้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้าไปเกี่ยวข้องกับในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะการทำธุรกิจ การบริโภค และการใช้ชีวิต แรงกดดันจากกติกาโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเอกชน ต้องร่วมมือกัน ภายใต้การสนับสนุนทั้งด้านนโยบาย การเงิน เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ไทยได้ตั้งเป้าไว้

 

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 65 “จิรวัฒน์ ระติสุนทร” รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวในช่วงเสวนา Carbon Neutral Roadmap งาน EGCO Group Forum 2022 Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยระบุว่า สผ. ในฐานะของผู้กำหนดทิศทางนำเสนอให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยดูในเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกด้าน เรามี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดูในภาพใหญ่ของสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

 

"ต้องยอมรับว่าตอนนี้สิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องในทุกเรื่อง การให้ความสำคัญต้องให้ทุกด้านพร้อมๆ กัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ และเวลา ดังนั้น 4 ประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ คือ “ขยะน้ำเสีย” เราเคยเป็นคนปล่อยน้ำเสีย ปล่อยขยะอันดับ 5 อันดับ 6 ของโลกในเรื่องขยะบก ขยะทะเล ถัดมา คือ “การดูแลในเรื่องของ PM2.5” และเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” พยายามทำให้ประเทศเป็นส่วนหนึ่งไม่ให้อุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม"

 

"ประเด็นสำคัญ อีกประเด็น คือ ปลายปีนี้จะมี “การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” (CBD COP) ที่แคนาดา เขาเชื่อว่าจะเป็นประเด็นต่อเนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ" 

 

สผ. กางโรดแมป 4 แนวทางสำคัญ สู่ \"ความเป็นกลางทางคาร์บอน\"

 

 

"ประเด็นเหล่านี้ ต้องเตรียมการทั้งเรื่องในอดีตที่ผ่านมา คือ ขยะ ของเสีย ไฟป่า PM2.5 และ กำลังเล่นในประเด็นปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในอนาคต คือ เตรียมการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ จะทำอย่างไรให้สามารถแก้ไขปัญหาควบคู่กับการสร้างงาน สร้างรายได้"

 

3 จุด ที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

 

จิรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เราข้ามจุดที่ไม่สามารถหวนกลับมาได้แล้ว 3 จุด ได้แก่ วงจรไนโตรเจนปั่นป่วน การสูญเสียความหลากลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหากเราก้าวข้ามเกินกว่านี้ไปอีก อาจจะสายเกินไป ดังนั้น ต้องตระหนัก แต่ไม่ต้องตระหนก เพราะขณะนี้มีการเตรียมการร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ว่าจะขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาอย่างไร

 

ตั้งเป้า ปี 2050 ผลิตไฟ้ฟ้าจากพลังงานสะอาด 74%

 

ขณะที่ ความก้าวหน้าอื่นๆ ในเรื่องของการแก้ปัญหา ต้องวางแผนระยะยาว ทั้งการปรับตัว และการลด ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยี CCS และ CCUS หรือ ไฮโดรเจน ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรง แต่ประเด็นตรงนี้ คือ ความยาก จะต้องดูทั้งมิติความคุ้มค่า และมิติด้านเวลาที่จะนำเข้าเทคโนโลยี ให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งมีการวางโรดแมปไว้ทั้งหมด เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 คือ 74% ของการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียน และยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และเดินหน้า Net zero ในปี 2065

 

“ทั้งนี้ การนำเข้าเทคโนโลยีในระยะแรก อาจจะเน้นในเรื่องของการอแดปก่อน เพราะความคุ้มค่าอาจจะไม่คุ้ม ต้องปรับตัวเราเอง เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากสีเขียวเบอร์ 5 เป็นต้น แต่ต้องยอมรับว่าหากเราจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 หรือการเป็น Net zero ในปี 2065 การปรับตัวอย่างเดียวไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับภาคดูดซับ”

 

4 ภาคการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

สำหรับภาคที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 4 ภาค ได้แก่ พลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรม ขยะน้ำเสีย และเกษตร โดยภาคพลังงานปลดปล่อยมากที่สุด "จิรวัฒน์" กล่าวต่อไปว่า ภาคที่น่าห่วงที่สุด คือ ภาคการเกษตร เพราะเกี่ยวพันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นภาคที่ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก

 

ขณะที่ภาคดูดซับมีภาคเดียว คือ ป่าไม้ เพราะฉะนั้น การบาลานซ์ระหว่างภาคปลดปล่อยกลับภาคดูดซับ คาดว่าในระยะยาวมีโอกาสจะสมดุล แต่ทุกคนต้องช่วยกัน ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องได้รับการซัพพอร์ตจากต่างประเทศใน 3 ประเด็น คือ เทคโนโลยี เงินทุน และปรับตัวเรียนรู้ รวมถึงทุกคนในประเทศและในโลกต้องช่วยกัน

 

“ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% ของโลก แต่ได้รับผลกระทบอันดับ 9 ของโลก ขณะที่ เมียนมาอันดับ 2 และ ฟิลิปปินส์อันดับ 4 ของโลก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราประสบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติทั้งหลายมาจากรอบข้างและตัวเราเอง น่ากลัวและรุนแรงกว่าที่คิด เป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามา แต่เราอาจจะไม่กระทบมากนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลูกหลานเราในอนาคตจะได้รับ”

 

ทั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนจาก "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" มาเป็น "กรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เพื่อรับผิดชอบงานส่วนนี้โดยตรง เตรียมการรองรับ Carbon Price , Carbon credit และ Carbon market ในการทำระยะยาว เราพิจารณาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ ปรับตัว การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ต้นทุน เวลาแต่ด้วยความเป็นจริง พื้นที่ปลูกป่า พื้นที่สีเขียว ทำให้เต็มที่ก็ได้แค่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

“ขณะที่ในปี 2030 เราคาดว่าจะปล่อย 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แม้ปรับตัวอย่างไร แต่การบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ค่อนข้างยาก เป็นเหตุผลว่าเราอาจจะใช้เทคโนโลยีราคาแพงเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน สุดท้าย อาจจะเป็นไฮโดรเจน CCS หรือ CCUS เข้ามาช่วย”

 

แผนเร่งด่วน ที่ สผ. ทำสำเร็จไปแล้ว คือ การสร้างความรู้ หน่วยงาน บริษัท เอกชนยักษ์ใหญ่ เห็นภาพและก้าวเดิน รวมถึงนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net zero ในปี 2065

 

ถัดมา คือ แผนระยะสั้น คือ วิธีการที่จะก้าว สิ่งแรก คือ นโยบาย กฎหมาย รวมถึงการเตรียมการเรื่องขององค์ประกอบ ระเบียบ ตอนนี้ยุทธศาสตร์ชาติได้มีการบรรจุไว้ทั้งหมดแล้ว แผนระดับ 1 – 3 และแผนแม่บท ได้บรรจุเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไว้ในระบบและทิศทาง กฎหมาย พ.ร.บ.กำลังดำเนินการ

 

และมีประเด็นที่ต้องทำเพิ่ม คือ Carbon Price Carbon Tax และ Carbon credit และสิ่งที่จะใช้ในการขับเคลื่อน คือ BCG Model รายได้ต้องมั่นคง ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืน โดยทุกหน่วยงานจะใช้กรอบนี้เป็น Mindset ในการทำงาน

 

กรีนโลน กรีนบอนด์ หนึ่งกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ

 

จิรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปรับเปลี่ยนภาคเกษตรต้องใช้เวลา เรามีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ใช้น้ำน้อยลง ผลผลิตเท่าเดิม ควบคุมปุ๋ย ควบคุมรายละเอียด และ CCS ขณะเดียวกัน ปลายเดือนนี้ จะมีการประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างกรอบใหญ่ ในการสร้างกรีนโลน กรีนบอนด์ และถ่ายทอดไปสู่หน่วยงานย่อย ๆ ตรงนี้จะเป็นกุญแจอีกดอกที่จะไขไปสู่ความสำเร็จ

 

ขณะเดียวกัน จะมีการพูดคุยกับ BOI ถึงสิทธิที่จะเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่ทำความดี หรือปรับตัวเข้าสู่เป้าหมาย จะมีสิทธิพิเศษอะไรให้บ้าง เช่น ภาษีเครื่องจักร เป็นต้น

 

"สิ่งที่ทำสำเร็จแล้วในตอนนี้ คือ การเปลี่ยนจากปูนประเภทเดิม เป็นไฮดรอลิก ซีเมนต์ โดยใช้ในการสร้างเขื่อน ถนน และตึกของ สผ. เอง และต้องมีการปรับในการใช้ต่อไป เชื่อว่าตลาดคาร์บอนจะเป็นกลไกเร่งให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น"

 

เตรียม 4 แนวทางสำคัญ บรรลุเป้า

 

ขณะที่แผนระยะยาว คือ การสร้างป่า สร้างการมีส่วนร่วม ตอนนี้เราเตรียมการให้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น

1. นโยบาย กฎหมาย มีแนวทางการทำงานชัดเจน

2. เทคโนโลยีซัพพอร์ต มีตัวเร่งในเรื่องคาร์บอนเครดิต ตัวดูดซับในภาคการป่า

3.เรื่องการเงิน BOI , ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่างๆ เตรียมในเรื่องขอกรีนโลน กรีนบอนด์

"และสุดท้าย 4. การมีส่วนร่วม โดยมี Thailand Climate Action Conference - TCAC พยายามให้จัดทุกปี ซึ่งมีหน่วยงานเอกชน ภาครัฐ เยาวชน ได้นำเสนอ สื่อสารกันชัดเจนว่าทุกคนตระหนักรู้และพร้อมจะก้าวไปกับเรา ดังนั้น ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย เชื่อว่าหาก 4 เรื่องนี้ครบ น่าจะบรรลุเป้าหมายได้” จิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย