“วราวุธ” เชื่อมั่นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะพาไทยสู่ความมั่นคง และยั่งยืน
“วราวุธ” เชื่อมั่นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะพาคนไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในการประชุมวิชาการ สผ. ประจำปี 2565
8 สิงหาคม 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ สผ. ประจำปี พ.ศ.2565 ภายใต้หัวข้อ “47 ปี สผ. สืบสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “30 ปี กองทุนสิ่งแวดล้อม” พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และมอบรางวัลเครือข่ายกองทุนสิ่งแวดล้อม รางวัล EIA Monitoring Awards 2021 และรางวัลเทศบาลที่ได้รับการคัดเลือกในระดับประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืนประจำปี 2564 ให้กับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมงานกว่า 400 คน โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.ทส. นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม.
นายวราวุธ ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพียงแค่ 1% ของโลกใบนี้ แต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงถึง 10% ของโลก พื้นที่ของประเทศไทยที่มีอยู่ 323 ล้านไร่ มีประมาณ 31.65% หรือ 102 ล้านไร่ ที่ยังคงเป็นพื้นที่ป่าที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพ และแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon sink ที่สำคัญ จากความสมบูรณ์ของทรัพยากรที่เรามี รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) มาใช้เป็นแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ ซึ่งพลังหลักสำคัญคือ การมีส่วนร่วม และกลไกในการบริหารจัดการแบบองค์รวมบนพื้นฐานของความพอประมาณ มีเหตุผล และมีการเตรียมความพร้อม สามารถต่อยอดสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระดับโลก จัดทำแผนและยุทธศาสตร์การดำเนินงานสิ่งแวดล้อม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้และแบ่งปันประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและเป็นธรรม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และส่งต่อโลกที่สวยงามให้กับคนรุ่นต่อไป