เปิดแผนลดโลกร้อน COP27 ดันไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เปิดแผนลดโลกร้อน COP27 ดันไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เปิดฉากอย่างเป็นทางการ สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 3-18 พฤศจิกายน 65 นี้ ณ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

โดยในส่วนของประเทศไทย “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) มอบนโยบายสำหรับ คณะผู้แทนไทย ถึงกรอบท่าทีเจรจาในการประชุม COP 27 ระหว่างปี 2565-2566 ว่าไทยจะสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน     

พร้อมยืนยันถึงการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง คำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี ที่สำคัญประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ และประเทศไทยตั้งใจจะร่วมกับภาคีอื่น ดำเนินงานตามความตกลงปารีส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต

'ค่าธรรมเนียมใช้ถนน' ทางออกลดคาร์บอนภาคขนส่ง

ภาคธุรกิจควรปรับตัวอย่างไรในยุคกรีนดิสรัปชัน?

"APEC 2022 Thailand" บทบาทไทย ร่วมคุมเกม-วางกรอบเศรษฐกิจโลก

 

"วราวุธ" เดินทางไปร่วม ประชุม COP27

เมื่อเวลา 01.05 น. วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2565) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ "วราวุธ  พร้อมด้วยผู้บริหาร และคณะทำงาน" ออกเดินทางไปยัง เมืองชาร์ม เอล ชีค สาธารรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อร่วมการประชุม  UNFCCC COP 27 ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2565   

วราวุธ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการรวมสุดยอดผู้นำโดยประเด็นหลัก ๆ คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 27 โดยในปีนี้ ประเทศไทยจะนำเสนอแผนระยะยาว จากวันนี้ ถึงปี 2065 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050

เปิดแผนลดโลกร้อน COP27 ดันไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

โดยระหว่างนี้เราจะทำหรือมีวิธีการอย่างไรให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ปริมาณ 388 ล้านตัน ให้ลดลงไปเหลือ 120 ล้านตัน และจะเสนอแผนระยะสั้น  Nationally Determined Contributions หรือ NDC ที่ประเทศไทยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 % ว่าประเทศไทยมีแนวทางดำเนินการอย่างไร 

วราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ในฐานะตัวแทนประเทศไทย เราจะไปแสดงศักยภาพให้นานาประเทศได้รับรู้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการเดินหน้าแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง  

 

ตั้งเป้าไทยผู้นำของโลกแก้ปัญหา Climate Change 

"365 วันที่ผ่านมาพวกเรา เพื่อนข้าราชการทุกคน ทำงานกันอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งวันนี้ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือข้อตกลงการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต กับสมาพันธรัฐสวิส คู่แรกของโลก ภายใต้ข้อ 6.2 ใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย  และเราจะเรียกร้องให้ทุกๆ ประเทศทั่วโลกเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาClimate Change" วราวุธ กล่าว

วราวุธ ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยของเราถึงแม้จะไม่ใช่ประเทศไทยที่ใหญ่มาก และไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจ เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกใบนี้ แต่เราจะเป็นผู้นำของโลกที่เดินหน้าแก้ไขปัญหา Climate Change อย่างเป็นรูปธรรม

ส่ง(ร่าง)ก๊าซเรือนกระจกต่ำปลายปี65

วราวุธ กล่าวต่อว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนได้รับมือและปรับพฤติกรรมพร้อมแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน ซึ่งในส่วนของ ทส.ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเน้นการดำเนินการใน 3 สาขา ได้แก่ พลังงานและขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสียชุมชน

“ขณะนี้ได้มีการจัดทำร่างร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhous Gas Emission development Strategy) รวมถึง NDC (Nationally Determined Contribution)ฉบับปรับปรุง เพื่อจัดส่งให้กับ UNFCCC (UNFCCC) ภายในปลายปีนี้ โดยร่างดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน” วราวุธ กล่าว

ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เร็วขึ้น 35 ปี

ประเทศไทยได้จัดทำและปรับปรุงเอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด NDC เพื่อยกระดับเป้าหมายของไทย ดังนี้

 1. ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง มีสาระสำคัญคงเดิม แต่แก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) (เร็วขึ้น 5 ปี) ขณะที่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน เดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) (เร็วขึ้น 15 ปี) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) (เร็วขึ้น 35 ปี)

 2. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) ยังคงสาระสำคัญเช่นเดียวกับ NDC ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่มีการแก้ไขเป้าหมายในระยะสั้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง โดยมีการแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลง ร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)