"วราวุธ" ภูมิใจประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบรรพชีวิน ชี้เป็นประโยชน์ต่อการคาดการณ์สภาพแวดล้อมได้ในอนาคต
"วราวุธ" ภูมิใจประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบรรพชีวิน ชี้เป็นประโยชน์ต่อการคาดการณ์สภาพแวดล้อมได้ในอนาคต
เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด จังหวัดขอนแก่น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมวิชาการด้านบรรพชีวิน ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6 (The 6th International Palaeontological Congress, IPC6)หรือ IPC6 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
นายวราวุธ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์กับนักบรรพชีวินจากทั่วทุกมุมโลกที่มาร่วมประชุมที่ได้มานำเสนอผลงานความก้าวหน้า และแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ทางวิชาการด้านบรรพชีวิน ซึ่งองค์ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับสามารถนำไปใช้ในการคาดการณ์สภาพแวดล้อมที่จะมีผลกระทบกับมนุษย์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน และสิ่งที่สำคัญเราสามารถ ดูอดีต แล้วมองถึงอนาคตได้ โดยกระทรวงทรัพยากรฯ มีความพร้อมที่จะประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันรักษาซากดึกดำบรรพ์ ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป
นายวราวุธ ยังกล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยเรื่องซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์ บริเวณเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งซากดึกดำบรรพ์อื่น ๆ ในพื้นที่ ที่ทำให้อุทยานธรณีโลกสตูลได้รับการประเมินให้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) และซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก ที่พบว่ามีขนาดใหญ่และยาวมากถึง 69.7 เมตร จนได้รับการบันทึกสถิติโลก (Guinness World Record) ว่าเป็นไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งตรงพื้นที่นี้สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย
สำหรับคำว่า "บรรพชีวินวิทยา" คือ วิชาที่ศึกษาลักษณะรูปร่าง ลักษณะความเป็นอยู่ และประวัติการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ สัตว์และพืชในธรณีกาล โดยอาศัยข้อมูลหรือร่องรอยต่าง ๆ ของสัตว์และพืชนั้น ๆ ที่ถูกเก็บบันทึกและรักษาไว้ในชั้นหิน
นักบรรพชีวินวิทยาจะศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ ศึกษาลักษณะรูปร่าง ลักษณะความเป็นอยู่ และประวัติการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ สัตว์และพืชในธรณีกาล โดยอาศัยข้อมูลหรือร่องรอยต่าง ๆ ของสัตว์และพืชนั้น ๆ ที่ถูกเก็บบันทึกและรักษาไว้ในชั้นหิน จัดเป็นแขนงหนึ่งของวิชาธรณีวิทยา ที่อาศัยความรู้ทางชีววิทยาปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับหลักฐานที่ได้สภาพซากดึกดำบรรพ์ เพื่อให้เข้าใจสภาพแวดล้อมในอดีตในช่วงที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาศัยอยู่
ซากดึกดำบรรพ์ (fossil) จึงเหมือนสมุดบันทึกของโลกที่บอกให้เราทราบถึงสภาพแวดล้อม วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยซากดึกดำบรรพ์ทุกประเภท มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทยมากกว่า 30,000 ชิ้น จาก 404 แหล่ง ในพื้นที่ 13 จังหวัด และในปัจจุบันแหล่งซากดึกดำบรรพ์ของประเทศไทยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พรบ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551