นโยบายพลังงานสะอาดของอียู มีเป้าหมายอย่างไร | EU Watch
สหภาพยุโรป (อียู) เร่งเปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากปี ค.ศ.1990 ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ.2030 และลดการปล่อยก๊าซให้เหลือศูนย์ในปี ค.ศ.2050
โดยมีชุดกฎหมาย “fit for 55” เป็นตัวขับเคลื่อนภายใต้กรอบนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวของอียู มุ่งให้ประชาชนและภาคธุรกิจในยุโรปได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
เนื่องจากภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ทั้งหมดของอียู นโยบายการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ จึง เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศของอียู
เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
ในปี ค.ศ. 2020 อียูมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 22.1 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 20 ในกฎหมาย Renewable Energy Directive 2009/28/EC (RED) นับเป็น 2 เท่าจากร้อยละ 9.6 ในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งเป็นผลของการกำหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
ล่าสุด แผน “REPowerEU” ซึ่งประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มเป้าหมายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในอียูให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 45 ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากรัสเซีย และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ผ่านมาตรการประหยัดพลังงาน การกระจายแหล่งพลังงาน และการเร่งการเปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียน อีกทั้ง การเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนจะเป็นโอกาสเพิ่มอัตราการจ้างงาน ผ่านการสร้างงานในภาคเทคโนโลยีสีเขียวที่อียูส่งเสริม
ผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮโดรเจนสะอาด และก๊าซไบโอมีเทน
แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของอียูได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็น 2 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2025 และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กำลังการผลิต 600 กิกะวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2030
อียูได้ออกกฎหมายบังคับให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคารที่ก่อสร้างใหม่ ทั้งอาคารสาธารณะ อาคารพาณิชย์ และอาคารที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์
นอกจากนี้ อียูกำหนดเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการผลิตไฮโดรเจนสะอาดในภูมิภาคให้ได้ 10 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030 และนำเข้าจากพลังงานไฮโดรเจนสะอาดจากประเทศอื่นอีก 10 ล้านตัน
เพื่อทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลในภาคการขนส่งและกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดคาร์บอน โดยใช้นโยบายยกเว้นภาษี รวมทั้งกำหนดมาตรฐานการรับรองคุณภาพการผลิตเพื่อพัฒนาให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฮโดรเจนของภูมิภาค และส่งเสริมการผลิตก๊าซไบโอมีเทนในอียู
แผน Biomethane Action Plan สนับสนุนการร่วมลงทุนและมาตรการด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตก๊าซไบโอมีเทนให้ได้ 35 พันล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านนโยบายเกษตรร่วมของอียู (CAP) ซึ่งหากประเทศสมาชิกอียูสามารถคัดแยกและจัดเก็บขยะอินทรีย์ได้ในวงกว้าง ก็จะเป็นโอกาสยกระดับการผลิตไบโอมีเทนที่ยั่งยืนในอนาคต
พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดหรือไม่
อียูจัดให้การลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์เป็นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Investment) ภายใต้กฎหมาย EU Taxonomy โดยเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดที่เสถียรและปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ ในขณะที่ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้อียูส่งเสริมเฉพาะการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มธุรกิจสีเขียว
เนื่องจากเห็นว่ากากกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมหากจัดการไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี พลังงานนิวเคลียร์ยังคงจำเป็นสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของอียู
และภาคอุตสาหกรรมของอียูยังจำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อคงขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทำให้บางประเทศในอียูเปลี่ยนใจมาสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ต่อ
อาทิ ฝรั่งเศสที่ประกาศเมื่อต้นปี 2565 ว่าจะเพิ่มโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 6 แห่ง เบลเยียมขยายเวลาการใช้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 10 ปี เช่นเดียวกับเยอรมนีที่ขยายเวลาการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อยจนถึงเมษายน 2567
ตัวอย่างของอียูชี้ให้เห็นว่า สำหรับประเทศที่ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นของตัวเองนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจะให้ประโยชน์ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยประเภทพลังงานสะอาดที่เลือกผลิตขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ
เช่น บางประเทศมีแสงแดดมากก็จะเหมาะกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่บางประเทศอาจจะเหมาะกับการใช้พลังงานลมมากกว่า และอาจยังเลือกนำเข้าพลังงานบางส่วนที่การนำเข้าคุ้มค่ากว่าการผลิตเอง
เช่น ไฮโดรเจนสะอาด สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ยังคงต้องหารือกันว่าเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาหรือไม่ และประเทศนั้นมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่แล้ว หรือจะต้องสร้างขึ้นใหม่.
คอลัมน์ : EU watch
ทีมงาน ThaiEurope.net
facebook @thaieurope.net
www.thaieurope.net