ท่าทีไทยในเวทีการประชุม COP27 เร่งแก้ปัญหาClimate Change
ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-18 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
โดยการประชุมในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘ช่วงเวลาแห่งจุดเปลี่ยนของโลก’ ในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ การประชุมCOP 27 “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ได้กล่าวถ้อยแถลง แสดงวิสัยทัศน์และกความก้าวหน้าในการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ของประเทศไทย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
ไทยประกาศชัดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
“วราวุธ” กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยตั้งเป้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก จาก Maximum ของเรา 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ 120 ล้านตันต่อปี
รวมถึงบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไทยปรับแผน ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ในปี 2030
ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก?ตอนที่2
พลิกวิกฤตผ่าน "เศรษฐกิจสีเขียว" เปิดตลาดคาร์บอนเครดิต ลดโลกร้อน
สร้างความร่วมมือลดโลกร้อนกับนานาประเทศ
“ประเทศไทยได้เร่งดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี ค.ศ. 2040 ตลอดจนส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมทำความเย็น และอยู่ระหว่างนำร่องวิธีการปลูกข้าวทางเลือกแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ”วราวุธ กล่าว
ที่ผ่านมาได้ลงนามสัญญา กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศคู่แรกในโลกที่ได้เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้เงื่อนไข ข้อ 6.2 ความตกลงปารีส (Paris Agreement) และในงานประชุม COP27 ไทยได้มีการหารือร่วมกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ถึงความเป็นไปได้ในการมีความร่วมมือด้านการจัดการน้ำภายใต้ข้อริเริ่ม “Water as Leverage”
ขณะนี้ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก และนโยบายการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์หลายประเด็นที่มีความสอดคล้องกับประเทศไทย แนวคิดการจัดการน้ำ งานวิจัย และนวัตกรรม ด้านการจัดการน้ำที่น่าสนใจหลายโครงการ ซึ่งสามารถนำมาต่อมายอดในประเทศไทยได้
หนุนประเทศพัฒนาส่งเสริม Loss and Damage
นอกจากนี้ยังมีการหารือร่วมกับประเทศสหรัฐอเมริกา ในเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทน ในประเทศไทย และทั่วโลก ซึ่งก๊าซมีเทน ถือว่ามีอานุภาพร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26-28 เท่า โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการช่วยกันหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซมีเทนลง พร้อมขอให้ประเทศไทยมาลงนามในข้อตกลง ซึ่งได้รับเรื่องไปหารือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลภาคการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงกระทรวงแรงงาน และยังต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามในโอกาสต่อไป
ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างมาก วันนี้ปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมากและหลายๆ พื้นที่เกิดน้ำท่วม แต่ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้าคาดว่าจะเกิดภัยแล้งอย่างแน่นอน ดังนั้น ประเทศไทย ต้องกำหนดแนวทาง มาตรการในการกักเก็บน้ำที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ไปใช้ประโยชน์เมื่อเกิดภัยแล้ง ซึ่งทุกหน่วยงาน กระทรวงต้องมีแผนระดับชาติที่เป็นแนวปฎิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน
“ประเด็นสำคัญในการประชุม COP27 ที่อยากส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงๆ คือ การส่งเสริมค่าเสียหายและการสูญเสีย (Loss and Damage)ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกใบนี้ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบลำดับที่ 9 ของโลก ดังนั้น หลายประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ไม่พัฒนาจึงตื่นตัวขึ้นมาให้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเฉพาะ และประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลงงบประมาณปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อนำไปช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาแลและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”วราวุธ กล่าว
"วราวุธ" กล่าวด้วยว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 1 ปี สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้ ต้องมีแผนมีการดำเนินการงานที่ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน มีเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา นักธุรกิจ การประกอบอาชีพ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นจากนี้อีก 1 ปี จะเป็นความท้าทายในการทำงานให้ชาวโลกได้ประจักษ์ และจะนำ 1 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ไปเสนอต่อเวที COP 28 ที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่อไป
“สิ่งแวดล้อม”แก้ได้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน
สำหรับ “Climate Change” ถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ จึงต้องมีการจัดประชุมในทุก ๆ ปี เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ภัยแล้ง ไฟป่า แผ่นดินไหว ทุกรูปแบบ ล้วนเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ ว่าถึงเวลาที่ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ต้องอาศัยความคิดเห็นจากหลายฝ่ายทั้งคนรุ่นใหญ่ และคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป กระทรวงทส.จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และผลักดันให้ทุกภาคส่วนทำไปด้วยกัน