เป็นไปได้หรือ เศรษฐกิจโต-ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดกับ Green Recovery ตอนที่ 2 (2/2)
ต่อกันในตอนที่ 2 ของ Green Recovery ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงจากงานประชุม APEC ที่ผ่านมาโดยรายงาน APEC Economic Policy ล่าสุดเน้นไปที่การออกแบบนโยบายฟื้นฟูทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งตรงตามการศึกษาของ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่มองว่าแนวทางดังกล่าวสร้างความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (Resilience) จากวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และจำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคในระยะยาว การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นถึง 5 โอกาสสำคัญหากอาเซียนนำแนวคิดการฟื้นฟูสีเขียวมาปรับใช้ เพื่อนำไปสู่ ‘การเติบโตสีเขียว (Green Growth)’ ต่อไป
ประเทศไทยเองมองเห็นโอกาสสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำแนวคิดการฟื้นฟูสีเขียวมาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศ จึงประกาศโมเดล "เศรษฐกิจ BCG" เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับ งานวิจัยของ ADB และการขับเคลื่อนระดับโลก โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-Curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากรากฐานทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามโมเดลธุรกิจภายใต้ BCG คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ได้ยอมรับทั่วโลกว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง นำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว และยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อีกมาก จากที่เห็นในปัจจุบัน บางธุรกิจปรับตัวโดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเองที่ทำได้ดีและมีอยู่แล้ว ให้เกิดการสร้างมูลค่า ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและนำไปสู่การต่อยอดอื่น ๆ ในอนาคต
ตัวอย่างธุรกิจ เช่น
o ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาช่วยคำนวณการใช้วัตถุดิบตั้งแต่กระบวนการออกแบบ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และ/หรือลดของเสีย เช่น นวัตกรรมเส้นด้ายพลาสติกรีไซเคิล อุปกรณ์ภายในรถยนต์/อุปกรณ์ก่อสร้าง ที่ทำจากส่วนผสมรีไซเคิล เป็นต้น
o ธุรกิจให้เช่า ส่งต่อหรือ Subscription เช่น Co-working Space, สินค้ามือสอง เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-Curve) จะมีมูลค่าสูงก็จริง แต่ก็อาจช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะความต้องการตลาดกำลังเปลี่ยนไป ทรัพยากรธรรมชาติ กฎเกณฑ์กติกาก็เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมเดิมที่ไม่ปรับตัว อาจมีต้นทุนสูงขึ้นและไม่ให้ผลตอบแทนเช่นเดิม จึงต้องยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจร เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและมั่นคงในระยะที่ยาว ควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีนั่นเอง