BCG สร้างงานใหม่ ระดับตำบล ครม.ขยายเวลาจ้างบัณฑิตใหม่
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG และการขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG
โดยข้อมูลจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เสนอแบ่งการดำเนินการดังนี้
- ความคืบหน้าการดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG
- การขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG จากระยะเวลา 3 เดือน (1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2565) เป็นระยะเวลา 9 เดือน (1 กรกฎาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566)
โดยมีสาระสำคัญของเรื่อง อว. คือ
- โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG เป็นการต่อยอดการดำเนินการจาก “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” โดยจะใช้ข้อมูลจาก Thailand Community Big Data (TCD) ที่ได้ดำเนินการมาใช้ในการบ่งบอกถึงศักยภาพและความพร้อมของทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนารายพื้นที่ ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเพิ่มและรักษาระดับการจ้างงานบัณฑิตและประชาชนในพื้นที่ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ วัตถุประสงค์
1. เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
2. เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่
3.พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG
4.พัฒนาฐานข้อมูล TCD ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บัณฑิตใหม่ ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชนในพื้นที่ ครอบคลุม 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ (ตำบลพื้นที่ที่เคยดำเนินการ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” จำนวน 3,000 ตำบล และตำบลพื้นที่ใหม่ จำนวน 4,435 ตำบล) ระยะเวลาดำเนินโครงการ : 3 เดือน เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2565
กิจกรรมหลัก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม ผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการด้าน BCG ของชุมชนออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนให้ได้มาตรฐานด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การทำการตลาดและขายสินค้าในรูปแบบ online/offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์ของสินค้า/บริการ ให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ และสามารถกระจายสินค้าได้อย่างกว้างขวาง
การวิเคราะห์ข้อมูล และส่งเสริมการใช้ประโยชน์และสนับสนุนการจัดทำข้อมูล TCD ให้สมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD ให้ผู้ที่จะใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน
การบริหารงบประมาณ
1.งบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งสิ้น 965.58 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลเดิม จำนวน 322.50 ล้านบาท (จำนวน 107,500 บาท/ตำบล) พื้นที่ตำบลใหม่ จำนวน 643.07 ล้านบาท (จำนวน 145,000 บาท/ตำบล) โดยใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม หรือจัดกิจกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ การสร้าง Brand การส่งเสริมการตลาด ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง วัสดุใช้สอย และค่าบริหารจัดการ
2. งบประมาณค่าตอบแทนสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการจ้างงาน รวมทั้งสิ้น 2,460.60 ล้านบาท ตลอดโครงการ ในพื้นที่ตำบลเดิม จำนวน 864.00 บาท วงเงิน 288,000 บาท/ตำบล สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 คน/ตำบล (บัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 5 ปี จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 45,000 บาท และผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชน จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 27,000 บาท) และพื้นที่ตำบลใหม่ จำนวน 1,596.6 ล้านบาท วงเงิน 360,000 บาท/ตำบล สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 คน/ตำบล (บัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 5 ปี จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 45,000 บาท และผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชน จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 27,000 บาท)
3. ค่าบริหารจัดการและกิจกรรมส่วนกลาง รวมทั้งสิ้น 139.66 ล้านบาท เช่น
- การดำเนินการจัดทำ TCD และการจัดทำการวิเคราะห์ข้อมูล [ต่อยอดจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ครอบคลุมพื้นที่ 7,435 ตำบลทั่วประเทศ] จำนวน 10 ล้านบาท
- การสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาในฐานหน่วยดำเนินงานระดับจังหวัด จำนวน 10 ล้านบาท และ
4. การพัฒนา Platform เพื่อผลักดันผลที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดผ่านช่องทางการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตำบล (U2T Market Place Platform) จำนวน 70 ล้านบาท
โดยสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ จำนวน 98 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการระบบ (System Integrator) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อบริหารและจัดการได้อย่างยั่งยืนต่อไป