ความมั่นคงทางอาหารของโลก ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ความมั่นคงทางอาหารของโลก ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ความต้องการอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันในการใช้ทรัพยากร ดิน น้ำ และพลังงาน ความจำเป็นเร่งด่วนในการลดผลกระทบของระบบอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร (food security) ที่คนทุกระดับสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจ ที่ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

การที่โลกจะสามารถผลิตอาหารได้มากขึ้นและมั่นใจได้ว่ามีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันนั้น จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ระดับโลกที่เชื่อมโยงหลายแง่มุม เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน

    ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen's University Belfast

มุ่งผลิตงานวิจัยระดับโลกเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน จากการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economic Model) ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศ ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม

ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เน้นคุณค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย 

ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร ตั้งอยู่ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ คณะผู้บริหารประกอบด้วย Prof. Dr. Christopher Elliot จาก Queen's University Belfast ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ และ Bualuang ASEAN Chair Professor on Food Security (แต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ศ.ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ และ ผศ.ดร.อวันวี เพ็ชรคงแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์

ความมั่นคงทางอาหารของโลก ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

    อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ที่มีความเข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในสาขายุทธศาสตร์ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP จาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาท ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากพื้นฐานความพร้อม ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมอาหารไทย

โดยการยกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน (functional foods) หรือการพัฒนาเป็นสารประกอบมูลค่าสูง (functional Ingredient) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดเติบโตอย่างมาก

    Prof. Dr. Christopher Elliott เปิดเผยว่า ไบโอเทค และ Institute for Global Food Security ที่ Queen's University Belfast มีความร่วมมือทางการวิจัยเรื่องความปลอดภัยทางอาหารและการพัฒนาบุคลากรมามากกว่า 10 ปี ความร่วมมือดังกล่าว มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันได้ขยายครอบคลุม ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลกระทบในทุกมิติทั้งการร่วมวิจัย การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนักศึกษาและการทำงานร่วมกับภาคเอกชน

โดยในเดือนมกราคม 2565 ผู้บริหาร Queen's University Belfast ได้ตัดสินใจสนับสนุนการจัดตั้ง IJC-FOODSEC เพื่อเป็นศูนย์กลาง ในการสร้างความเป็นเลิศทั้ง 3 มิติข้างต้นในระดับอาเซียน

ความมั่นคงทางอาหารของโลก ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

    ศ.ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ  และ ผศ.ดร.อวันวี เพ็ชรคงแก้ว ยำ้การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศไทย ที่เน้นคุณค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่

    1.เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ (biocontrol technology) ชีวภัณฑ์สำหรับควบคุมโรคพืชรวมทั้งสามารถย่อยสลายสารเคมีตกค้างในดินทางการเกษตร มีความโดดเด่น คือ เป็นชุดชีวภัณฑ์ พร้อมใช้ที่มีความสะดวกในการเตรียม ใช้เวลาสั้นในการเพิ่มปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์

ทำให้ทันต่อการสถานการณ์การระบาดของโรคพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ มีต้นทุนการผลิตที่ประหยัด ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ได้ด้วยตนเองเพียงอ่านคู่มือการใช้แล้วปฏิบัติตามก็สามารถได้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการ  

2. NSTDA-Dyes คือ สีย้อมอินทรีย์เรืองแสงชนิดใหม่ (novel luminescent organic dyes) เป็นสารไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเคมีที่ถูกคิดค้น สังเคราะห์และจดสิทธิบัตร โดยทีมนักวิจัยในโครงการไมโคสมาร์ท (MycoSMART) ใช้สำหรับเชื่อมต่อกับแอนติบอดีเฉพาะที่ตรวจจับสารพิษจากเชื้อราได้อย่างแม่นยำ

สามารถอ่านผลการตรวจวัดสารพิษได้อย่างชัดเจนจากแสงสีของ NSTDA-Dye ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมหรือใช้เครื่องมืออย่างง่าย

    3. MycoSMART kit เป็นชุตตรวจที่ใช้เทคนิคไมโครอะเรย์และ lateral flow strip test มาผนวกเข้าด้วยกันทำให้สามารถตรวจสารพิษจากเชื้อราได้ที่ละหลายชนิดแบบพกพา และวัดค่าแบบ semi-quantitative อีกด้วย

    4. เทคโนโลยี Agri-Mycotoxin binder ซึ่งเป็นนวัตกรรมการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร มาประยุกต์ใช้ในการลดสารพิษจากราในอาหารสัตว์ โดยวัสดุนี้สามารถลดสารพิษจากรา ที่ส่งผลให้สัตว์เกิดความผิดปกติทางร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันได้หลากหลายชนิด เช่น อะฟลาท็อกซิน บี1 (Aflatoxin B1) ซีราลีโนน (Zearalenone) โอคราท๊อกซิน เอ (Ochratoxin A) ฟูโมนิซิน บี1 (Fumonisin B1) และดีอ็อกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol)

    ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ โดยเน้นการพัฒนากระบวนการผลิต ลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไร

นอกจากนี้ยังมุ่งวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่า ให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพในประเทศและศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหาร เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ให้มีศักยภาพในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกอาหารในระดับโลก.

คอลัมน์ โลกเปลี่ยนทิศ คิดเปลี่ยนโลก
ศาสตราจารย์ ศิริวรรณ สืบนุการณ์
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์