ทำอย่างไร เมื่อ "ระบบนิเวศ" โลก เกินจุดวิกฤติ

ทำอย่างไร เมื่อ "ระบบนิเวศ" โลก เกินจุดวิกฤติ

เมื่อโควิด-19 ทุเลาลง โลกยังต้องเผชิญวิกฤติร้ายแรงที่รออยู่ คือ ผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และส่งผลตามมาต่อการลดลงของ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ซึ่งนับเป็นประเด็นเร่งด่วนและท้าทายที่สุดในบรรดาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถิติต่าง ๆ ล้วนยืนยันว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่ สภาวะโลกร้อน ที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่ข้อตกลงปารีสพยายามยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกได้เพิ่มไปกว่า 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

ระบบนิเวศโลก เกินจุดวิกฤติ

 

“ธันยพร กริชติทายาวุธ” ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อสถานการณ์ระบบนิเวศของโลก ที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับไม่สมบูรณ์อีกต่อไป สิ่งที่มีชีวิตที่หลากหลายขณะนี้เกินจุดวิกฤติ

 

หากย้อนหลังกลับไปปี 1970 - ปัจจุบัน ความหลากหลายสิ่งมีชีวิตลดลง 2 ใน 3 หรือในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาย สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ปลา หายไปทั้งปริมาณและความหลากหลาย จำนวนของสปีชีร์ลดลง เหลือไม่ถึง 1 ใน 3 เรียกว่าเกินจุดวิกฤติ ระบบที่เคยอุดมสมบูรณ์น้อยไป

 

“บางครั้งเราคิดว่าเรามีอาหารอยู่ แต่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น ทานปลา ซึ่งความจริงมาจากบ่อเลี้ยงไม่ธรรมชาติ โดยเฉพาะกุ้งธรรมชาติหากินยาก ดังนั้น หากมองธรรมชาติจริงๆ ระบบนิเวศอ่อนแอมากในตอนนี้”

 

ความมั่นคงทางอาหาร วิกฤติโลก

 

อีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลก คือ ความมั่นคงทางอาหาร จากเดิมพืชผลทางการเกษตร ปลูกง่าย หาง่าย แต่เดิมเรามีสายพันธุ์ที่หลากหลาย ตอนนี้หาได้ยากและมีผลผลิตที่เป็นผลิตภัณฑ์น้อยลงเพราะมีการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชและแมลง ประชากรสัตว์ที่เคยช่วยผสมเกสร เช่น นก มูลนกทำให้ขยายพืชพันธุ์ หรือแมลงที่เป็นอาหารของนก พอเรากำจัดแมลง แมลงในโลกหายไป 40% ทำให้แมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ลดลง ประเทศไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะแมลงมหาศาล

 

 

"โลกเรากำลังเจอจุดวิกฤติในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หายไปเหลือน้อยลง และไม่ถึง 1 ใน 3 รวมถึงสูญเสียความมั่นคงด้านอาหาร แม้ต้องการพึ่งธรรมชาติแต่ก็ไม่มีธรรมชาติให้พึ่งพา และยังใช้สารเคมีเพื่อเป็นปุ๋ยในดิน ทำให้ความสมดุล เป็นมิตรกับสัตว์ใต้ดินแย่ ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหา รตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียไปด้วย จากระดับโลกก็กระทบต่อระดับประเทศ

 

"เปลี่ยนความคิด" ความท้าทายสำคัญในการแก้ปัญหา

 

สำหรับ ความท้าทายในการแก้ปัญหา “ธันยพร” มองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ แต่บางครั้งอาจปล่อยปะละเลย เช่น พื้นที่บ่อกุ้งร้างกว่า 100 ไร่ สิ่งเหล่านั้นหากฟื้นคืนธรรมชาติสามารถคืนกลับมาเป็นป่าชายเลน มีปูหอยกุ้งเข้ามาได้ แต่คนจะมองว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ จึงปล่อยปะละเลย

 

"ดังนั้น ความท้าทายคือ ทำอย่างไรที่เราจะมีความคิดใหม่ ในการทำให้พื้นที่เสื่อมโทรม ฟื้นฟูได้ โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ การแก้ปัญหาบางทีแค่ปรับพื้นที่หน้าดิน ให้เกิดความเหมาะสม แล้วธรรมชาติจะฟื้นกลับมาเอง หากเรามีวิธีทางวิทยาศาสตร์ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ภาคธุรกิจไม่ต้องลงเงินเยอะในการปกป้องฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้ ก็จะสามารถฟื้นฟูได้ เราไม่ได้ขาดเงิน ไม่ได้ขาดพื้นที่ แต่เราขาดความเข้าใจ"

 

สิ่งที่อาจจะเห็นที่ผ่านมา คือ การปลูกป่าชายเลน มีการปลูกซ้ำในพื้นที่เดิม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีวิธีในการอนุรักษ์อย่างไรให้สมดุล ไม่ใช่ปลูกอย่างเดียว สายพันธุ์ที่จะเอาไปใช้ในพื้นที่ ต้องรู้จักพืชที่เหมาะสมกับระดับความเค็มของน้ำ เป็นต้น

 

เอกชน จะมีส่วนร่วมอย่างไร

 

สำหรับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย อธิบายว่า อันดับแรก คือ ต้องมองเห็นความสำคัญ ครัวไทยคือครัวโลก ฉะนั้น มีธุรกิจต้องพึ่งพาการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ ปลูกข้าว อ้อย ข้าวโพด ปศุสัตว์ เราเป็นแหล่งแปรรูปอาหาร

 

 

เอกชนของไทยเริ่มตื่นตัว และช่วยกันคิดว่าจะปรับพื้นที่ดินอย่างไรให้สมบูรณ์ขึ้น หากใช้การปลูกข้าวเชิงเดี่ยวต่อไปไม่รอดแน่ ดังนั้น การปลูกเกษตรผสมผสานเริ่มมา บทบาทของภาคธุรกิจต้องรู้ตัวก่อนว่า พื้นที่ที่เขามีอยู่ อาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของแต่เป็นการใช้ร่วมกันกับเกษตรกรมีศักยภาพอย่างไร และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการ

 

ปัจจุบัน มีหลายองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกัน อย่างโครงการ ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ในการร่วมอนุรักษ์พื้นที่ทะเล โดยมีตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทย โดยไทยตั้งเป้าไว้ที่ 75 คะแนน แต่ตอนนี้ได้ 72 คะแนน ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ทะเลว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

 

เช่น พื้นที่ชายฝั่ง หากสะอาดขึ้น มีต้นไม้ขึ้น สัตว์ที่มาหากิน กุ้ง หอย ปู ก็จะเริ่มมาขยายพันธุ์ ความสมบูรณ์ก็จะเริ่มเพิ่มขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์หนึ่งของภาคธุรกิจอย่าง Ocean for life มองตั้งแต่การหาพันธมิตร โดยให้ภาคเอกชนดูแลโครงการ ใช้นักวิชาการที่มีความเข้าใจหาแนวทางที่ถูกต้อง และมีชาวบ้านในชุมชน ตลอดจนพนักงานบริษัทร่วมกัน สุดท้าย สามารถวัดได้ว่า ขยะทะเลที่เป็นขยะพลาสติกลดลง แต่ที่เพิ่มขึ้น คือ ปลาฉลาม เต่าตะนุ และอีกโครงการ คือ การอนุรักษ์ฟื้นฟูทางบก การคุ้มครองพื้นที่ ฟื้นฟูพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานของภาคเอกชนให้สมบูรณ์ 

 

"อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์พื้นที่ทางบก และ ทะเลไทย ยังมีจุดอ่อนอยู่ หากต้องการให้ไปถึงเป้าหมายยังมีช่องว่างอยู่เยอะ หลักๆ คือ วิธีคิดที่ต้องแก้ไข" 

 

3 ประเด็นสำคัญ สู่เป้าหมายภาครัฐเอกชน

 

สำหรับ ประเด็นสำคัญที่จะไปให้ถึงเป้าหมายทั้งภาครัฐ และ เอกชน “ธันยพร” กล่าวว่า การจะไปสู่เป้าหมายของประเทศให้เป็นพื้นที่ปกป้องคุ้มครองทั้งทางบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่โลก ภายในปี 2030 ซึ่งต้องทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล อนุรักษ์ทรัพยากรระหว่างประเทศ  โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีการหารือเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1

 

ที่ประชุมมีความเห็นว่าไทยน่าจะเข้าร่วมกับกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People แสดงศักยภาพว่าไทยสามารถที่จะอนุรักษ์ และบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับประชาคมโลกได้ โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทั้งทางบกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 และทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ซึ่งไทยจะต้องดำเนินการ 3 ข้อเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ได้แก่

 

ข้อ 1 คือ การร่วมปกป้องพื้นที่ป่าบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่โลกในปี 2030

ข้อ 2 คือ การส่งเสริม การแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน

ข้อ 3 คือ ดำเนินงานตามกรอบแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ต้องทำงานร่วมกัน

ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังทำแผนโรดแมป ก่อนจะไปประชุม ในเดือน ธ.ค.นี้ ในการประชุมสมัชชาภาคี อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15 ณ มอนทรีออล แคนาดา

 

เร่งหาทางออก ผสานความร่วมมือภาคธุรกิจ

 

ล่าสุด สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และ สหประชาชาติ ในประเทศไทย เตรียมจัดการประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) ประจำปี 2565 “Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges” เร่งหาทางออกของภาคธรุกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกรอ้นและความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ในวันที่2 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 –17.00 น. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ Conference Room 1 ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพ

 

"ธันยพร" กล่าวต่อไปว่า พอมีการหารือภาคธุรกิจ ต้องเร่งไปสู่ทางออกใหม่ เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน และความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาหารือและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งการเตรียมงาน จะมีการประกาศเจตนารมณ์ของภาคธุรกิจ ที่เป็นรูปธรรมและวัดผลได้ โดยมีสมาชิกภาคธุรกิจเข้าร่วมกว่า 100 องค์กร

 

“ในปีนี้มีการเน้นในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าให้เกิดการขับเคลื่อนสองส่วน คือ ระดับชาติ และระดับประชาสังคม โดย GCNT เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดความพยายามในการเปลี่ยนเป้าหมายประเทศ ขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เดินหน้าสู่โลว์คาร์บอน และทำอย่างไรให้ธรรมชาติฟื้นฟู ซึ่งต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์มาให้ความคิดเห็นด้วย และปีถัดไปจะเริ่มเห็นว่าภาคธุรกิจจะขับเคลื่อนในการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่อย่างไร ”

 

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกที่ธรรมชาติฟื้นตัวได้ เนื่องจากไทยถึงอินโดนีเซีย อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้น นอกจากการบรรเทาวิกฤติความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ สิ่งสำคัญ คือ การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ บ้านเราจะกลายเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก” ธันยพร กล่าวทิ้งท้าย 

 

ทำอย่างไร เมื่อ \"ระบบนิเวศ\" โลก เกินจุดวิกฤติ