ปรับตัวรับโลกรวนด้วยระบบนิเวศ | กษิดิศ สื่อวีระชัย
ภายในเพียงช่วงเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา เราทุกคนต่างเห็นโศกนาฏกรรมและความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเป็นผลมาจากภาวะโลกรวน ที่ส่งผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ไม่คาดคิด
ไม่ว่าจะเป็น ภาวะฝนตกหนักที่ทำให้น้ำท่วมและฆ่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 1,000 คนในปากีสถาน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.6 แสนล้านบาท ภาวะภัยแล้งในยุโรปที่รุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปี ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล
รวมไปถึงคลื่นความร้อนและภัยแล้งรุนแรงทั่วภาคใต้ของจีน บริเวณรอบลุ่มแม่น้ำแยงซี ซึ่งทำให้หลายโรงงานต้องหยุดการผลิตจนกระทบทำให้ห่วงโซ่อุปทานทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
การรับมือกับภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตจากภาวะโลกรวน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล ประชาชน และธุรกิจ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)
หนึ่งในวิธีการรับมือสำคัญที่กำลังมีการศึกษาในปัจจุบัน คือ
การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation หรือ EbA) ซึ่งเป็นการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์ต่างๆ จากระบบนิเวศในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไปในตัว หรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่า ให้ธรรมชาติเป็นฝ่ายช่วยเราลดแรงกระแทกจากภาวะโลกรวน
มีตัวอย่างมาตรการต่างๆ ที่น่าสนใจในการใช้การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อปกป้องชุมชนชายฝั่งจากคลื่นพายุและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การปลูกต้นไม้ริมทางถนนและสร้างสวนสาธารณะในเมืองเพื่อลดความเสี่ยงจากคลื่นความร้อนและน้ำท่วม และการอนุรักษ์ป่าไม้ลาดชันเพื่อป้องกันดินถล่มและน้ำท่วมปลายน้ำ เป็นต้น
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้แนะนำวิธีการยกระดับความสามารถของการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) เพื่อรับมือผลกระทบจากภาวะโลกรวนออกมาเป็น 5 มิติ ดังนี้
มิติแรก การสร้างนโยบายและกรอบการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการปรับตัว โดยอาศัยระบบนิเวศ นโยบายและกรอบการกำกับดูแลที่ดีจะช่วยสะท้อนถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับ EbA รวมถึงช่วยกำหนดวิธีการดำเนินการและแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรทั้งทางเทคนิคและทางการเงิน
รัฐบาลควรบูรณาการแนวทาง EbA เข้าไปในแผนและนโยบายระดับชาติ รวมถึงกำหนดเป้าหมายที่เจาะจงและสามารถวัดผลได้ตามระดับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions)
มิติที่สอง การใช้นวัตกรรมทางด้านนโยบายและกฎระเบียบ โดยการส่งเสริมให้เกิดการใช้แนวทาง EbA อย่างแพร่หลายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มแหล่งเงินทุนต่อการดำเนินการผ่านกระบวนการและวิธีต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green public procurement)
การมี EbA เป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการแบ่งเขตที่ดินหรือชายฝั่งเพื่อปกป้องระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อการปรับตัวจากผลกระทบภาวะโลกรวน
มิติที่สาม การเพิ่มจำนวนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ โดยเฉพาะกลุ่มชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มสตรี เนื่องจากทั้ง 3 กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการดูแลบริหารที่ดินและพื้นที่ทะเลเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบนิเวศโดยตรง
โดยรัฐบาลสามารถสนับสนุนความเป็นผู้นำของกลุ่มดังกล่าวผ่านการเสริมสร้างทักษะด้าน EbA และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดนโยบายและกระบวนการวางแผนต่างๆ
มิติที่สี่ การใช้นวัตกรรมทางการเงินเพื่อส่งเสริมการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ ตัวอย่างเช่น การใช้พันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) ซึ่งในปัจจุบัน การใช้พันธบัตรสีเขียวเพื่อส่งเสริม EbA ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความตระหนัก ความสนใจ และศักยภาพของ EbA ในหมู่ผู้ออกตราสารหนี้และกลุ่มนักลงทุน รวมถึงพัฒนาโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้เป็นตัวอย่างในการสาธิตแนวทางการส่งเสริมและดำเนินการ EbA สำหรับโครงการต่อๆ ไป
มิติที่ห้า การกำหนดการส่งเสริมการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศในพื้นที่ที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด ผ่านการวิเคราะห์ที่คำนึงถึงความเสี่ยงทางสภาพอากาศ ความต้องการและความเปราะบางของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาตรการปรับตัวที่เป็นไปได้ และจำนวนคนที่จะได้รับผลประโยชน์
การศึกษาขององค์การสหประชาชาติ พบว่ามีบริบทพื้นที่สามประเภทที่การประยุกต์ EbA จะนำไปสู่ผลประโยชน์ที่สูงสุด ได้แก่ เมืองที่มีความราบต่ำ ชุมชนชายฝั่ง และพื้นที่ทางการเกษตร
แนวทางการยกระดับการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการใช้ระบบนิเวศหรือธรรมชาติมาช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จำเป็นที่จะต้องมีผู้นำรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองและสนับสนุนทรัพยากรจำนวนมากในการขับเคลื่อน
ซึ่งประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากเราไม่ปรับตัวรับมือกับสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ความหายนะที่จะเกิดขึ้นคงไปอยู่ในจุดที่เราไม่สามารถจินตนาการได้.