'โลกรวน' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

'โลกรวน' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

การพูดคุยถึงสภาวะแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ และการจัดการ 'ขยะ' เรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รอให้ใครมาจัดการ

การใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ เราได้สร้าง ‘ขยะ’ มากมาย เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา 

หลายประเทศทั่วโลกต่างสรรหาวิธีแก้ไข ด้วยการแยกขยะ นำกลับมาใช้ซ้ำ คิดนวัตกรรมเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน สำหรับประเทศไทยมีวิธีการจัดการขยะอย่างไร

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักทำสารคดี นักสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตรายการ 'เถื่อน Channel' ที่ท่องเที่ยวไปทั่วโลกในที่ ๆ คนเขาไม่ไปกัน เหตุใดในระยะหลังเขาถึงหันมาสนใจเรื่อง ‘ขยะ’ อย่างจริงจัง

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล Cr.Kanok Shokjaratkul

"เริ่มจากการเดินทางไปทั่วโลก มันทำให้เห็นปัญหา เรื่องน้ำแข็งละลาย, เรื่องป่าอะเมซอนหายไป, เรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมระดับโลก

เราตั้งใจเดินทางไปทำสารคดีสภาวะ โลกรวน โลกร้อน ทุกมุมโลก แต่โดน ‘โควิด-19’ เบรคไว้เมื่อปี 2020 ก็เลยหันหน้าเข้ามาในประเทศแทน

ไปทำเรื่อง ไฟป่า ภาคเหนือ แต่เราก็เห็นปัญหาที่ใกล้มากขึ้นเรื่อย ๆ คือ กรุงเทพฯ มีปัญหา วิกฤติขยะ ไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล ตอนนี้ดีขึ้นเป็นอันดับ 9 หรือ 10 แต่ก็ยังติด top ten ของโลก”

วรรณสิงห์ เล่าที่มาที่ทำให้ตัวเองสนใจเรื่องปัญหา 'ขยะ' ให้ฟัง บนเวที Talk Stage ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565  

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

Cr.Kanok Shokjaratkul

  • เมืองไทยควรมีการจัดการขยะที่ดี

การจัดการขยะที่ย่ำแย่ของประเทศไทยทำให้เกิด มลพิษ มากมาย ส่งผลกระจายไปทั่วโลก วรรณสิงห์ กล่าวต่อ

“เมืองไทยปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 3.7-3.8 ตัน/คน/ปี ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 4 ตัน/คน/ปี ไม่เยอะเท่าประเทศในตะวันออกกลาง ที่ปล่อยคาร์บอนปีละ 20 ตัน/คน/ปี หรืออเมริกา 16 ตัน/คน/ปี

มีโอกาสได้ทำสารคดีเกี่ยวกับขยะในคูคลอง ในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สถานีจัดการขยะอ่อนนุช แยกไปก็เทรวม มันจริงไหม จากนั้นตัดสินใจไปเรียนต่อ ปริญญาโทด้านการจัดการขยะพลาสติกทางทะเล

ขยะมีหลายอย่าง แต่ละอย่างมีความละเอียดอ่อนในการจัดการ เมื่อก่อนเรามองเป็น ปัญหาเชิงพฤติกรรม คนไม่แยกขยะ คนทิ้งไม่เป็นที่ คนไม่มีจิตสำนึก

แต่พอเรามาเรียน เราได้ข้อมูล รู้ว่ามันเป็น ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าเรื่องการจัดการบริหาร, เรื่องกฎหมายรองรับ, เรื่องงบประมาณ, เรื่องเทคโนโลยีต่างประเทศที่นำมาประยุกต์ใช้"

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล Cr.Kanok Shokjaratkul

  • เริ่มต้นด้วยการแยกขยะ

ถ้ามีการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทาง การจัดการปลายทางก็ไม่ต้องทำอะไรมาก วรรณสิงห์บอกอย่างนั้น

"ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กทม.มีโครงการนำร่อง ‘ไม่เทรวม’ เขาขออย่างเดียวคือ แยกเศษอาหาร ออกจากขยะ มีเพียงแค่สองถัง การจัดการก็ง่ายขึ้นเยอะมาก

ถ้าเรามี ขยะรีไซเคิล ก็แยกใส่ถุงใสวางไว้หน้าบ้าน ซาเล้งก็จะมาเก็บไปขาย ส่วน ขยะอินทรีย์ เศษอาหาร ถ้าเรามีเครื่อง Composter ก็เปลี่ยนมันให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์

ในต่างประเทศ มีกำหนดวันทิ้งขยะ ทิ้งผิดวันก็ไม่เก็บ แล้วมีการลงโทษ พึ่งโครงสร้าง พึ่งกฎหมาย พึ่งการออกแบบระบบ แต่เราไม่มีสิ่งเหล่านี้

ถ้าเรามีระบบโครงสร้างที่ตอบสนองตรงนี้ได้ คุณแยกขยะ ก็จ่ายค่าจัดการขยะน้อยลง ถ้าไม่แยกคุณจ่ายแพงขึ้น แยกเสร็จมีตลาดให้ขายขยะรีไซเคิลผ่านแอพฯหรือผ่านสถานีซื้อขายทั่วทุกมุมเมือง คุณก็จะมีรายได้วันละ 100-200 บาท

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ Cr.Kanok Shokjaratkul

คนไทยทุกคนรู้ว่า แยกขยะ ดี แต่ 9 ใน 10 คน ไม่ศรัทธาเรื่องแยกขยะ ก็ไม่ทำ ผมได้ไปดูโครงสร้างมาแล้วรู้ว่า แยกขยะมันมีประโยชน์ ตอนนี้มีแค่ระบบของเอกชน ไม่มีระบบของภาครัฐในการรับรอง

เราต้องมี โครงสร้างทางกฎหมาย ที่บังคับใช้ มี โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สร้างแรงจูงใจ

เช่น บอกให้ซื้อรถไฟฟ้า EV ก็เริ่มลดภาษีรถ EV ทำให้การซื้อง่ายขึ้น ไม่ใช่บอกว่าซื้อรถไฟฟ้าสิจะได้ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม

เราเน้นเรื่องสร้าง จิตสำนึก เยอะเกินไป มันพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล

ขยะรีไซเคิล พวก พลาสติก อลูมีเนียม แก้ว มันกลับเข้ามาสู่ระบบได้ กระป๋อง ราคาดีมาก กิโละ 50-60 บาท มันคือ แร่อลูมีเนียม รีไซเคิลได้ไม่รู้จบ"

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ Cr.Kanok Shokjaratkul

  • กฎหมายและการศึกษา

วรรณสิงห์ กล่าวว่า เรื่องการจัดการขยะ ปัจจุบันให้ อบต. อบจ. ไปจัดการกันเอง

"กฎหมายมีแค่ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด, พ.ร.บ.อนามัย ไม่ให้ไปปนเปื้อนในที่สาธารณะ เราไม่มี กฎหมาย ระดับชาติใด ๆ มาดูแล

ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ไม่มีมาตรฐานระดับชาติ และไม่มีงบประมาณมากพอ ที่จะทำให้ทุกท้องถิ่นทำได้ระดับที่ดีเท่ากัน

ในพื้นที่บางจังหวัดไม่มีรถขยะไปเก็บ ชาวบ้านเอาไปวางไว้ในที่ดินโล่ง ๆ แล้วก็เผาทิ้ง เปลี่ยนมลพิษบนดินไปเป็นมลพิษในอากาศ PM 2.5 เป็นมลพิษในน้ำเวลาฝนตกไหลลงไปแหล่งน้ำ แล้วชาวบ้านก็ทิ้งขยะที่เดิมกันต่อ

เราควรมี การศึกษา ในโรงเรียน สมมติผู้ว่าฯกทม.สั่งให้ทุก ร.ร.ในสังกัดกทม.สอนเด็กเรื่อง การแยกขยะให้ถูกต้อง ก็จะมีผลกับทุกครอบครัว

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ Cr.Kanok Shokjaratkul

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังมีปัญหา ขยะนอกระบบ, ขยะที่ไม่ได้รับการจัดเก็บ เพราะรถขยะเข้าไม่ถึง อยู่ในตรอกซอกซอยเล็ก ๆ อยู่ริมคลอง ก็ทิ้งขยะลงคลอง ถ้าคุณได้ไปดูที่ประตูระบายน้ำของกทม. จะหายสงสัยว่าทำไมน้ำท่วม

มันมีทั้ง ฟูก ที่นอน โซฟา ทีวี เราต้องมี รถเก็บขยะคันเล็ก, เรือเก็บขยะ ไปเก็บ ภาครัฐก็ต้องมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจมารองรับเรื่องการซื้อขายขยะ

การฝังกลบ เรามีทรัพยากรที่ดินจำกัด ถ้ามีผ้าใบคลุมแล้วมีท่อต่อส่ง ก๊าซมีเทน ออกมา เราจะสามารถเอามาทำเชื้อเพลิงต่อได้

บ่อฝังกลบ จำนวนมากในประเทศไทยไม่ได้มาตรฐาน ตอนน้ำท่วม พลาสติกลอยฟ่องออกมา บ่อฝังกลบที่แย่คือไม่มีการจัดการใด ๆ เลย แต่ที่แย่กว่านั้นคือการทิ้งลงไปในทุ่ง ในคูคลอง"

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล Cr.Kanok Shokjaratkul

  • ขอแรงทุกคนช่วยกันแยกขยะ

วิธีง่ายๆ วรรณสิงห์ บอกว่า เอาอาหารออกไป แล้วแยกสิ่งที่รีไซเคิลได้ออกมา

"ในครัวเรือน ขยะเศษอาหาร ถ้ามีทุนทรัพย์หน่อยก็ DIY หรือซื้อถัง Composter มารองรับทำปุ๋ยปลูกต้นไม้ได้ดีมาก หรือแยกถุงเศษอาหารมัดไว้ แยกถุงรีไซเคิลวางไว้ 

ที่ สวีเดน มีโรงเผาขยะ เผาหมด จนต้องอิมพอร์ตขยะเข้ามา ที่ ญี่ปุ่น มีเมืองชื่อ คามิคาสึ แยกขยะเป็น 37 ประเภท เพราะในเมืองไม่มีเตาเผาขยะ เขารีไซเคิลทุกอย่างเอากลับมาใช้

ที่ ยุโรป จะมีถังขยะ 4 ถังให้แยก อลูมิเนียม, แก้ว, กระดาษ, พลาสติก ที่ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีตู้รับ แบตเตอรี่, หลอดไฟ เก่า แต่บ้านเราแค่ ถังแดง, ถุงแดง ขยะอันตราย ยังหายากเลย

เราใช้ไฟเท่าไร ใช้น้ำเท่าไร ปล่อยขยะเท่าไร เรื่องแยกขยะ ไม่ใช่จริยธรรม ที่ทำแล้วเป็นคนดี แต่เป็นเรื่องที่ใครผลิตอะไรก็ควรรับผิดชอบจัดการสิ่งนั้นให้จบสุดทาง ควรรวมอยู่ในโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างภาครัฐ

ตอนนี้เรายังต้องพูดกันอยู่เพราะมองเป็นเรื่อง จิตสำนึก มองเป็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นผลจากการทำธุรกิจทุกประเภท"

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล Cr.Kanok Shokjaratkul

  • โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว

ไม่ใช่แค่เรื่อง 'ขยะ' เท่านั้น ยังมีเรื่อง สภาพอากาศ และ สิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

"ปัญหาใหญ่ของโลกที่กำลังจะมาถึงคือเรื่อง 'โลกรวน' แต่ก่อนเป็นเรื่องของลูกหลาน ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เป็นเรื่องของปัจจุบันแล้ว ฝนตกมาแล้ว 5 เดือน แล้วก็ยังตกต่อไป

พายุ ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำลายสถิติตัวเองทุกปี กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เราต้องไปคุยกับ ตะวันออกกลาง, อเมริกา, จีน ไม่ให้เกิน 2 องศาเด็ดขาด ภายในปี 2100 ซึ่งตอนนี้มีทีท่าจะเป็น 4 องศาด้วยซ้ำ

สิ่งที่เมืองไทยควรจะทำ หนึ่ง.ลดขยะ สอง.เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมกับสภาวะของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งเรื่อง การผลิตพลังงาน, การผลิตอาหาร และ โครงสร้างคมนาคม ซึ่งจะโดนผลกระทบเยอะมาก ใน 10-20 ปีหลังจากนี้ มันเข้ามาใกล้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

\'โลกรวน\' ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังจะมาถึง... ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล Cr.Kanok Shokjaratkul

อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีกฎระเบียบของ อบต. อบจ. คุณไม่ทำ เราไม่จับ แต่จะเสียค่าจัดการขยะแพงขึ้นหลักหมื่นหลักแสน ก็จะสร้างแรงจูงใจให้คนอยากทำโดยอัตโนมัติ

อาจมีการสเกลให้เกรด ตึกนี้ทิ้งขยะรวมกันมากไป จ่ายราคานี้ ถ้าแยกดีจ่ายราคาต่ำกว่าเดิม

งบขยะกทม.ปีหนึ่งใช้ 12,000 ล้าน เราเก็บค่าขยะได้ปีละ 500 ล้าน ที่เหลือต้องไปกินงบประมาณส่วนอื่น

ซึ่งถ้าเราแยกขยะต้นทางได้ดี ความจำเป็นในการใช้งบปลายทางก็จะไม่มี

ตอนนี้เราต้องจ่ายค่า บ่อฝังกลบ ตันละพันกว่าบาท แล้วต้องขนส่งไปไกลถึง นครปฐม, ฉะเชิงเทรา เพราะเราไม่มีบ่อฝังกลบในกทม. ต้องเสียค่าน้ำมันอีก เลี่ยงได้ด้วยการแยกขยะที่ต้นทาง

...........................

งาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 จัดขึ้นวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 แห่ง มาให้ความรู้ ให้สัมผัสเทรนด์นวัตกรรมเทคโนโลโลยีความยั่งยืน ผ่านนิทรรศการ เวทีสัมมนา เสวนา ฯลฯ