“ทช.” ฟื้นป่าชายเลน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ สร้างความยั่งยืน ทะเลและชายฝั่ง
กรม ทช. เดินหน้า “โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ขับเคลื่อนประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065
กระแสตื่นตัวใน เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ส่งผลให้ไทยต้องเร่งขับเคลื่อนตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG) ในปี 2065 ตามที่ประเทศไทยแสดงเจตจำนงค์ไว้ใน COP26 โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลัก และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อาณาเขตทะเลไทยรวม 200,779,334 ไร่ มีชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ความยาวชายฝั่งประมาณ 3,151 กม. ขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“อรรถพล เจริญชันษา ” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า “ป่าชายเลน” มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในห่วงโซ่อาหารทั้งเป็นแหล่งหลบภัย สืบพันธุ์ การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (บลูคาร์บอน) ซึ่งล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วราวุธ ศิลปอาชา) เข้าร่วมการประชุม COP27 และได้แถลงผลความร่วมมือกับสวิตเซอร์แลนด์ แลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตและกำหนดโรดแมปประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2030 ด้วยเงื่อนไขการได้รับสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ
ทส. ได้มีนโยบายสนับสนุนให้มีการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้วยการเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนเสื่อมโทรมและส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบันไทยมีทรัพยากรป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ 1.73 ล้านไร่ จากอดีตที่เคยมีกว่า 3 ล้านไร่ ปัจจุบัน กรม ทช. ได้จัดทำ “โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างสมัครใจ มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลน 3 แสนไร่ ใน 23 จังหวัด ภายใน 10 ปี (ปี 2565-2574) โดยในปีแรก 2565 จะเดำเนินงานปลูกป่า ปีที่ 2-6 เป็นการบำรุงแปลงปลูกป่า และปีที่ 7-10 เป็นการบำรุง ดูแล รักษา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน
อธิบดีกรม ทช. กล่าวต่อไปว่า การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่าง กรม ทช. กับ ผู้พัฒนาโครงการ ในอัตราส่วน 90 : 10 ขณะนี้ ได้จัดสรรพื้นที่และอนุมัติให้หน่วยงานเอกชนแล้วกว่า 4.4 หมื่นไร่ ซึ่งถัดจากนี้จะเป็นการดำเนินการปลูกป่าชายเลน โดยมี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการจัดเก็บข้อมูลประเมินคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นการสนับสนุนเอกชนและภาคประชาชนในการทำงานร่วมกันสร้างป่าชายเลนได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการลดงบประมาณของรัฐในการฟื้นฟูป่าชายเลนอีกด้วย
สำหรับการเก็บข้อมูลการเติบโตของต้นไม้ในพื้นที่โครงการฯ เพื่อประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิตนั้น ผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) ที่ อบก. ขึ้นทะเบียนไว้ จะเป็นผู้ทวนสอบรายงานการติดตามประเมินผล เพื่อรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ ตามหลักเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด
“อนาคตหากสามารถปรับปรุงพื้นที่ 3 แสนไร่ให้มีความพร้อม เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้มากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ระบบนิเวศป่าชายเลน และความสมบูรณ์ของท้องทะเล ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ในท้องถิ่น เกิดการส่วนร่วมทุกภาคส่วน เป็นห่วงโซ่การดำเนินงานขับเคลื่อนให้ไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net zero GHG อย่างยั่งยืนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป” อธิบดี กรม ทช. กล่าวทิ้งท้าย