“หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน"หมุดหมาย “ไทยยูเนี่ยน”ปรับพอร์ต100%ปี2050
ไทยยูเนี่ยน มุ่งมั่น ก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050 ปรับแผนธุรกิจตัวสู่ความยั่งยืน มุ่งเป้าออก Blue Finance 100 % ชี้สุดท้ายแล้วภาวะโลกร้อนจะคัดออกเหลือเฉพาะผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบเท่านั้น
ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 31/2564 เรื่อง การขออนุญาต และการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนที่ออกใหม่ (ฉบับประมวล) ว่าด้วย “ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน” (sustainability-linked bond) หมายความว่า หุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีข้อตกลงหรือเงื่อนไขในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่อ้างอิงกับผลความสำเร็จหรือผลการดำเนินการตามตัวชี้วัด และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออกตราสารหรือบริษัทในเครือ
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผยว่า ไทยยูเนี่ยน มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Blue Finance ต้องสูงกว่า 75 % ของหุ้นทั้งหมดในปี 2025 และให้ครบ 100 % ในอนาคต โดยหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น จะเห็นได้จากผลสำเร็จในการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน 2 ครั้งในปี 2564 จำนวน 27,000 บาท ประสบผลสำเร็จ ทำรายได้ให้บริษัท ถึง 0.1 % เกินความคาดหวัง ที่โดยปกติแล้วหุ้นประเภทนี้ไม่มีบริษัทหรือนักลงทุนใดมุ่งหวังการสร้างรายได้
“การระดมทุนเพื่อ ส่งเสริมความยั่งยืน ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเชื่อมโยงกับ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนส่งผลให้มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยอัตราดอกเบี้ยจะมี Sustainalytics ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินอิสระ มาทำ การประเมิน กรอบการเสนอขายหุ้นกู้ และภายใต้โครงสร้างนี้ อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับ ว่าบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้หรือไม่”
ธีรพงศ์ กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยเป็นเรื่องที่ถูกบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ด้าน การเงินของภาคธุรกิจต่างๆ มากขึ้น รวมถึงไทยยูเนี่ยนด้วย การใช้ เครื่องมือทางการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Blue Finance ได้รับการยอมรับทั้งจากภาคธุรกิจ และนักลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากที่สุดที่โลกกำลังเผชิญ และหากไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้จะเกิดการสูญเสียทางธรรมชาติซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรที่ธุรกิจต่างๆ ต้องพึ่งพาเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานด้านความยั่งยืนมากขึ้น เพราะความสำเร็จในกลยุทธ์ความยั่งยืนจะสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการ ดำเนินงานทางด้านเงิน
ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทแรกๆ ของไทย ที่ก้าวสู่ Blue Finance หรือการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อมหาสมุทร และอุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยรวม
ซึ่งสอดคล้องกับ พันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรม และดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก และเป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF)
ใน 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอดในเรื่องดังกล่าว จนส่งผลโดยรวมให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่มาตั้งแต่ปี 2557 และในปี 2560 ไทยยูเนี่ยนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI เป็นปีที่4 ติดต่อกัน นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index
ดังนั้น ในต้นปี 2566 นี้ ไทยยูเนี่ยนจะประกาศ commitment กับทุกบริษัทในเครือทั่วโลกให้มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเมื่อเทียบกับนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในปี 2065 ด้วยการประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ลดการสูญเสีย บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ต้องสามารถรีไซเคิล หรือย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่เพื่อยืนยันว่าทุกสินค้าของบริษัทผลิตออกมาโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก
"ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทาย เพราะภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัว และทั่วโลกให้ความสำคัญ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการวางกรอบแผนธุรกิจ และสามารถก้าวข้ามข้อกีดกันทางการค้า และมองว่าที่อียูจะเริ่มจัดการปล่อยคาร์บอน ข้ามแดน หรือ Carbon Border Adjustment (CBA) สำหรับสินค้านำเข้า และบริการข้ามแดน ตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 นั้นไม่ใช่อุปสรรค แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ยิ่งยากก็ยิ่งชอบเพราะปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ไม่พร้อม ถือว่าเป็นการคัดออก สุดท้ายแล้วจะเหลือเฉพาะผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบเท่านั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์