“เซ็นทรัล ทำ” นำร่องโมเดลพื้นที่สีเขียว พัฒนาชุมชน มุ่งสู่องค์กร Net Zero
“เซ็นทรัล ทำ” นำร่องโมเดลพื้นที่สีเขียว พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ฟื้นฟูสภาพผืนป่า เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การอยู่ดีกินดี มุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero
“Central Tham Love the Earth” ภายใต้โครงการหลัก “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกันทำด้วยใจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ กลุ่มเซ็นทรัล ตั้งเป้าเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศกว่า 50,000 ไร่ภายในปี 2030 โดยขับเคลื่อนผ่านโครงการตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตอกย้ำการเป็นบริษัทด้านค้าปลีก ศูนย์การค้า และโรงแรมที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก
ตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF Thailand), มูลนิธิและส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF - Thailand Organic Foundation), บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) และภาครัฐโดยมี กรมป่าไม้ และหน่วยงานองค์กรส่วนท้องถิ่น นำกรอบการพัฒนา BCG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“เซ็นทรัล ทำ” ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ฟื้นฟูป่า สร้างอาชีพยั่งยืน
“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า โครงการฯ ได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริการปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่างมาส่งเสริมสู่การปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่นำร่อง ตำบลกองแขก อำเภอเเม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน มีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 300 ครัวเรือนในพื้นที่ 700 ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
จึงมีการขยายผลไปยังพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือเขตป่าสงวนฯ ในภาคเหนือที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน จากการเริ่มต้นลงมือทำในภารกิจฟื้นฟูป่า สร้างอาชีพยั่งยืน ความสำเร็จได้ขยายผลสู่การเป็น MODEL นำร่อง “แผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่” ร่วมกับ กรมป่าไม้ ผ่านบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ณ องค์การบริหารส่วนตาบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
โดยมี กลุ่มเซ็นทรัล ภาคีเครือข่าย ภาคธุรกิจและองค์การพัฒนาเอกชน ประกอบด้วย มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ส่งเสริมเกษตรกรให้เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเคมีมาพัฒนาทำเกษตรอินทรีย์ และสร้างพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พร้อมพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ
อีกทั้ง ยังส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาที่หลากหลายภายใต้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เช่น การท่องเที่ยวโดยชุมชน และอาหารท้องถิ่น (local food) อาหารปลอดภัย การจัดการทรัพยากร และการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำ ด้วยอาชีพทางเลือก การทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง และผู้บริโภคก็จะได้อาหารจากพื้นที่เหล่านี้ที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ เป็นห่วงโซ่โมเดลเศรษฐกิจสีเขียวระดับชุมชน ที่สามารถต่อยอดปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
BCG แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
“โครงการ Central Tham Love the Earth” ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกันทำด้วยใจ ได้มีการนำรูปแบบการพัฒนาแบบ BCG มาเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ หรือป่าต้นน้ำ ซึ่ง BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การใช้ทรัพยากรชีวภาพ หรือทรัพยากรทางธรรมชาติ วัสดุและผลผลิตทางการเกษตร (Nature-based) ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ ที่ได้จากแปลงเกษตร เช่น การเปลี่ยนเศษวัสดุทางการเกษตรและของเสียเป็นปุ๋ยปรับปรุงดิน เป็นอาหารสัตว์ ด้วยเทคโนโลยีทางชีวภาพ ภายใต้ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม คือ ส่งเสริมความรู้ด้านการทำเกษตรแบบเป็นมิตรต่อธรรมชาติ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน และจะเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำจากรายได้และโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฟื้นผืนป่า ช่วยไทยพ้นวิกฤต
ปัจจุบัน โครงการ Central Tham Love the Earth ได้ดำเนินกิจกรรมในจังหวัดภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ เป็นต้น รวมถึงป่าชายเลน ในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลของประเทศไทย เช่น บางขุนเทียน กรุงเทพฯ บางกะเจ้า สมุทรปราการ ส่วนในภาคใต้ เช่น เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ถือเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การอยู่ดีกินดี ก้าวหน้าและมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของกลุ่มเซ็นทรัล และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs - Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ขับเคลื่อนการการพัฒนาและการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ โปร่งใส เพื่อการพัฒนาประเทศไทยและสากล อย่างยั่งยืนสืบไป