อียู เคาะข้อสรุปมาตรการCBAM เพิ่ม 7 สินค้า เตรียมบังคับใช้ 1 ต.ค. 66
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย อียู สรุปมาตรการCBAM ขยายสินค้าจาก 5 กลุ่ม เป็น 7 กลุ่มสินค้า เตรียมบังคับใช้ 1 ต.ค.66 ก่อนเริ่มใช้เต็มรูปแบบ 1ม.ค.69 ด้านผู้ส่งออก เผย ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับ CBAM หวั่นอียูขยายสินค้่าเพิ่มไปยังกลุ่มเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ กระทบส่งออกไทย
คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ประชุมและสรุปการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) แล้ว โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุม 3 ฝ่าย ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ข้อสรุปให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้ CBAM จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า โดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งได้ข้อสรุปในรายละเอียดสำคัญของมาตรการดังกล่าวแล้ว และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566
นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 ถึง 31 ธ.ค. 2568 (3 ปีแรก) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้นำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม มีหน้าที่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ผลิต และเริ่มบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น โดยขั้นตอนต่อไป รัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ต้องเห็นชอบร่างกฎหมาย CBAM เป็นทางการ และคณะกรรมาธิการยุโรปต้องจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อกำหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติก่อนที่มาตรการ CBAM จะมีผลใช้บังคับในเดือนต.ค. 2566
“ กรมขอให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องนำมารายงานอียูภายใต้มาตรการฯ และควรพิจารณาทางเลือกใหม่ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ นำพลังงานสะอาด และหมุนเวียนมาใช้ เพื่อลดภาระในการซื้อใบรับรอง CBAM ในอนาคต “
รวมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆควรติดตามพัฒนาการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายของตนเอง และ จะต้องเร่งพิจารณายกระดับระบบกลไกราคาคาร์บอนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีหรือซื้อใบรับรองการปล่อยคาร์บอนที่ผู้ผลิตไทยต้องจ่ายให้กับต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2564 สถิติการส่งออกสินค้าของไทยไปอียู ตามพิกัดสินค้าที่ระบุในร่างกฎหมาย CBAM ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่า 125.42 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.76% ของการส่งออกไปโลก อะลูมิเนียม มูลค่า 61.17 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกไปโลก และน๊อตและสกรู มูลค่า 95.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 19.96% ของการส่งออกไปโลก
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า มาตรการ CBAM ซึ่งออกประกาศมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เดิมมีสินค้า 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล่านี้รับทราบและเตรียมความพร้อมมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการลดใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน การปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้น้อยที่สุด การอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการปรับตัวที่ค่าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอให้ภาครัฐมีนโยบายด้านพลังงานสะอาดหรือการช่วยเหลือด้านต่างๆในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนของผู้ประกอบการได้
ส่วนการขยายขอบเขตสินค้าไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า โดยสินค้าดังกล่าวเราส่งออกมีสัดส่วนเพียง 2 % แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับมาตรการ CBAM
“ผู้ประกอบการได้รับสัญญาณเตือนจากอียูมาก่อนหน้านี้แล้วกับการประกาศมาตรการCBAMก็เตรียมความพร้อมมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ที่น่าจับตาต่อไปในอนาคตหากว่ามีการขยายขอบเขตกลุ่มสินค้าเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเม็ดพลาสติก กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ จะกระทบหนักแน่ เพราะสัดส่วนการส่งออกเม็ดพลาสติก 6 % กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ 3-5 % เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มก็จะมีสัดส่วน 8-9 % ของการส่งออกไทย คาดว่าน่าจะทยอยประกาศในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เริ่มปรับตัวมีการใช้พลังงานอื่นทดแทนมากขึ้น เช่น โซล่าเซลล์ การปล่อยของเสีย เป็นต้น ”
สำหรับ มาตรการCBAM มีที่มาจากเมื่อเดือนธ.ค.2562 สหภาพยุโรป ได้ประกาศนโยบายกรีนดีล (European Green Deal)มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้อียูสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก55 %ภายในปี2573และมุ่งสู่net zero emissionsภายในปี2593 ซึ่งCBAM เป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายกรีนดีลมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอนและลดความเหลือมล้ำในการแข่งขันจากการเสียเปรียบคู่แข่งต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจากที่เข้มข้นน้อยกว่าอียู
โดยมาตรการCBAMกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องซื้อใบรับรองCBAM(CBAM certilicate) โดยราคาใบรับรองจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู โดยราคาซื้อขาย เดือนพ.ย.65อยู่ที่76ยูโรต่อตันคาร์บอน