ปฎิรูประบบจัดการฟาร์มปศุสัตว์ ลด“ก๊าซมีเทน”บริหารต้นทุนหนุนรายได้
“ก๊าซมีเทน” เป็นหนึ่งในก๊าซที่ก่อให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases)”ในชั้นบรรยากาศหากมีมากเกินไปจะก่อให้เกิด“ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect)” นอกจากนี้ คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของก๊าซมีเทนคือ สามารถกักเก็บความร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 28 เท่า
หากก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นจะเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกสูงขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
“การเลี้ยงปศุสัตว์”นับแหล่งหนึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีแทน ดังนั้น ความพยายามการปรับวิธีการเลี้ยงเพื่อลดการเกิดก๊าซมีเทนเป็นอีกงานที่กรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การจัดการภายในฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์เป็นทางเลือกที่จะช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนได้ ซึ่งไม่เพียงสามารถช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้แล้ว การบริหารจัดการที่ดีจะนำไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆทั้ง น้ำ กลิ่น และลดของเสียซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นต้นทุนที่สูญไป แต่หากมีระบบการจัดการที่ดีสามารถประหยัดต้นทุนบางส่วนและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ การจัดการฟาร์มที่เหมาะสมจะเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยอาหารเพราะการจัดการที่ว่านี้กรมได้วางระบบให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงสามารถตอบคำถามผู้บริโภคได้ทั้งที่มาของการผลิตสินค้าปศุสัตว์นั้นๆว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีความสะอาดและปลอดภัย ขณะเดียวกันระบบการจัดการที่ว่านี้ ยังสามารถหาข้อผิดพลาดหากเกิดปัญหาทั้งระบบจัดการภายในฟาร์มและต่อผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขได้อย่างตรงจุด ประหยัดเวลา และจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
“แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเกิดขึ้นจากภาคเกษตรเพียง 5% ของปริมาณการปล่อยก๊าซท้้งหมด แต่เราก็ให้ความสำคัญกับการจัดการเพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซในภาคเกษตร ซึ่งเราใช้ทั้งการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดของเสียซึ่งเป็นสาเหตุก๊าซมีเทน”
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นที่การนำมูลสัตว์ในฟาร์มมาทำ ไบโอแก๊สเพื่อให้เป็นพลังงานลดต้นทุนด้านพลังงานได้บางส่วนแล้ว ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เรื่องอาหารสัตว์ ซึ่งต้องช่วยระบบย่อยของสัตว์ โดยเฉพาะวัว ที่หากเกิดก๊าซจากระบบย่อยที่ไม่สมบูรณ์จะสร้างก๊าซมีเทนได้ เบื้องต้นแนะนำเกษตรกรใช้อาหารที่มีโปรไบโอติกที่ย่อยง่ายและเป็นประโยชน์ต่อปศุสัตว์แทนการให้กินอาหารทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการทำความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงวิธีการจัดการฟาร์มแบบใหม่นี้ เป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งต้องดำเนินการสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องต่อไป และในระยะยาวกรมมีแผนจะแนะนำการนำพันธ์ุโคที่เหมาะสมกับพื้นที่ประเทศไทยเข้ามาเลี้ยงเพื่อลดปัญหาด้านอาหาร โดยต้องเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับอาหารในท้องถิ่น ซึ่งจะลดการเกิดก๊าซมีเทนจากระบบการย่อยที่ไม่สมบูรณ์และลดต้นทุนการพึ่งพาอาหารจากต่างประเทศได้ด้วย
นอกจากนี้ ทางกรมปศุสัตว์ตระหนักถึงความสำคัญของหลักเศรษฐกิจ BCG model จึงได้เริ่มโครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODELในปีพ.ศ. 2565 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อค้นหาฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL ซึ่งเป็นฟาร์มอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์จากกรมปศุสัตว์ ตามหลักการ 3 ข้อได้แก่
1.หลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy: B) ฟาร์มมีการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐานสอดคล้องตามหลักการปศุสัตว์อินทรีย์ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร
2.หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular-Economy; C) มีการนำทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืน พึ่งตนเองได้มาก หมุนเวียนปัจจัยการผลิตได้ดี และใช้หลัก zero-waste ในฟาร์ม 3.หลักเศรษฐกิจสีเขียว (Green-Economy; G) เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว การประหยัดพลังงาน ลดการปลดปล่อยของเสียจากฟาร์ม รวมทั้งเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2565 มีฟาร์มปศุสัตว์แอินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นฟาร์มต้นแบบจากกรมปศุสัตว์จำนวน 13 ฟาร์ม โดยในจำนวนนี้ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นระดับยอดเยี่ยม 3 ฟาร์ม ได้แก่ 1.ไร่ผึ้งฝนฟาร์ม 2.บริษัท ฮิลไทรบ์ ออร์แกนนิคส์ จำกัด 3.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคาม
นอกจากนี้ ยังมีโครงการฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อมสุกรเพื่อประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาด้านกลิ่นเหม็น น้ำเสีย เป็นต้น