ทักษะสีเขียวกับการบริหารองค์กรสู่ความยั่งยืน | จตุรงค์ นภาธร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรในโลกธุรกิจปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) กันเป็นอย่างมาก โดยพยายามหาแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะทำให้องค์กรเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมให้คงสภาพเดิมได้นานที่สุด
เพื่อจะให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นต่อไปในระยะยาว งานวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้เขียนในหัวข้อ “การพัฒนาทักษะสีเขียว (Green Skill) สำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย” สรุปได้ว่า การปลูกฝัง พัฒนา และส่งเสริมให้พนักงานขององค์กรประยุกต์ใช้ทักษะสีเขียวในการปฏิบัติงาน
ถือเป็นแนวปฏิบัติอันสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้พนักงานเหล่านั้น แสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสม ในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ซึ่งเรียกว่า พฤติกรรมสีเขียวหรือ Green Behavior) ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองให้บรรลุเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้
ทั้งนี้ ทักษะสีเขียว หมายถึง ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Green Awareness) ให้กับพนักงาน
รวมถึงทักษะด้านการบริหารที่มีความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในองค์การ ที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากการบริหารงานที่เน้นเป้าหมายในด้านของผลประกอบการด้านการเงินเป็นหลัก ไปสู่เป้าหมายในด้านของความยั่งยืน
ที่ต้องการยกระดับผลประกอบการด้านการเงิน ผลประกอบการด้านสังคม และผลประกอบการด้านสิ่งแวดล้อม (ซึ่งรวมเรียกว่า ไตรกำไรสุทธิหรือ Triple Bottomline) ไปพร้อม ๆ กัน
ตัวอย่างของทักษะสีเขียวที่สำคัญ ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Waste Management) การจัดการน้ำเสีย รวมถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัด และการรีไซเคิลวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ
นอกจากนั้น ทักษะสีเขียว ยังหมายความรวมถึง การที่พนักงานในองค์การมีความคิดสร้างสรรค์ และร่วมกันค้นหาวิธีการปรับปรุงกระบวนการทำงาน/ขั้นตอนการทำงาน ให้มีการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และทักษะการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อนำเสนอโครงการ/ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อันจะช่วยกระตุ้นให้พนักงานขององค์กรตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและหันมาใส่ใจกับการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
แน่นอนว่าสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษามีทักษะและพฤติกรรมสีเขียว สำหรับการปฏิบัติงานในองค์กร ผ่านหลักสูตรการศึกษาและวิธีการเรียนการสอนที่ทันสมัย
ที่มิใช่เพียงการบรรยายความรู้และทฤษฎีต่าง ๆ แต่เป็นการนำกรณีศึกษาและปัญหาต่าง ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจริงในองค์กรมาวิเคราะห์ให้เห็นภาพจริง
การศึกษาดูงานทั้งในสถานที่จริงและผ่านเครือข่ายเสมือนจริง (Virtual Study Visit) รวมถึงการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้นำเสนอแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
องค์การหรือบริษัทต่าง ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ก็ต้องมีบทบาทที่สำคัญในการรับช่วงการส่งเสริมและพัฒนาความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม รวมถึงทักษะสีเขียวต่อจากสถาบันการศึกษา
นอกจากการฝึกอบรมในห้องเรียน (Classroom Training) ที่เป็นเครื่องมือหลักที่องค์การหรือบริษัทเหล่านั้นมักนำมาใช้แล้ว การดำเนินการดังกล่าวยังจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมืออีกหลายอย่างมาประกอบกัน
โดยเฉพาะการมอบหมายให้บุคคล ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสีเขียวให้กับแต่ละฝ่ายงานในองค์การ (Green Change Agent) การจัดตั้งทีมงานที่ทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้พนักงานแสดงออก ซึ่งพฤติกรรมในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม (Green Team)
รวมถึงการจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกสนุกสนาน ได้รับความรู้ และหันมาให้ความใส่ใจกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Green Project)
ตัวอย่างเช่น บริษัท เอสซีจีเซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการส่งเสริมให้พนักงานหันมาประหยัดพลังงานโดยร่วมกันหารอยรั่วของระบบปฏิบัติการต่าง ๆ และแจ้งให้ผู้บริหารทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมจะได้รับของที่ระลึกจากบริษัท
ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการปลูกฝังให้พนักงานคัดแยกขยะเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยนำมาทิ้งที่จุดรับที่กำหนด และใช้แพลทฟอร์มดิจิทัลเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อรายงานให้พนักงานทราบว่าขยะที่ตนเองนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลนั้น ได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ได้กี่ต้น รวมถึงมีการสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัลได้ด้วย
แรงสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในรูปแบบของงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้พนักงานขององค์กรประยุกต์ใช้ทักษะและพฤติกรรมสีเขียวในการปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องและสำเร็จ
อันจะช่วยยกระดับผลประกอบการด้านการเงิน ผลประกอบการด้านสังคม และผลประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ในที่สุด.