ทูตพาณิชย์แนะใช้“เศรษฐกิจสีเขียว” ปรับจุดแข็งเป็นจุดขายแข่งในสหรัฐ
เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับต้นๆของโลก อย่าง “สหรัฐ”
เกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เปิดเผยว่า ตลาดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Products) ของสหรัฐ มีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และทำให้เกิดจ้างงานถึง 9.5 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจขนส่ง: มุ่งลดมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งยานพาหนะประเภทนี้ไม่ปล่อยมลพิษและไม่ต้องใช้แบตเตอรี่เหมือนรถยนต์ไฟฟ้า และในอนาคตบริษัทแอร์บัสน่าจะมีการพัฒนาเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน นอกเหนือจากนี้ US Environmental Protection Agencyเตรียมแผนระบบขนส่งมวลชนสีเขียวไว้ด้วย
ธุรกิจเกษตรกรรม: การทำเกษตรแบบยั่งยืน (Sustainable Agricultural) เพื่อช่วยเหลือเกษตรในการสร้างรายได้ตอบสนองตลาดขนาดใหญ่ จากการสำรวจข้อมูลของหน่วนงาน USDA พบว่า 56% ของฟาร์มในแบบสำรวจ นิยมการปลูกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมากขึ้น ซึ่งราคาการจำหน่ายของสินค้าออร์แกนิกมีมูลค่าขยายตัวถึง 39% เมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป อย่างไรก็ดี ปี 2564 พบว่าชาวอเมริกันประมาณ 94.38 ล้านคน ให้ความสนใจในการบริโภคสินค้าออร์แกนิก
ธุรกิจพลังงานและเทคโนโลยี: สหรัฐมีนโยบายผลักดันและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนมาขึ้น โดยมีการนำเข้า Solar Cell (HS code: 854140) มากถึง 45% จาก มาเลเซีย เวียดนาม ไทย เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น
“ระยะหลังสหรัฐลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน จึงเป็นโอกาสของไทยข้อมูลปี 2564 ไทยส่งออกแผง Solar Cell เป็นอันดับที่ 3 รองจากมาเลเซียและเวียดนาม โดยมีมูลค่า 1,270 ล้านดอลลาร์”
ธุรกิจการผลิตอาหาร: มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการผลิตอาหาร ทำให้สินค้าอาหารจากพืช (plant-based food) โดยผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มทดลองและกลายมาเป็นผู้ซื้อซ้ำ ในปี 2564 ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารจากพืช มีมูลค่าประมาณ 7,400 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.2% (yoy) และคาดการณ์ว่าในปี 2573 ตลาดโลกน่าจะมีการการขยายตัวถึง 75,000 ล้านดอลลาร์ และกำลังกลายเป็นสินค้าหลักในตลาด (mainstream)
ธุรกิจค้าปลีก: กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ให้หันมาซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่ม Millennial (72.19 ล้านคน) และกลุ่มGen Z (68.6 ล้านคน)
เกษสุรีย์ เล่าอีกว่า การส่งเสริมของภาครัฐในธุรกิจ Green Economy มีหลายด้าน ได้แก่ พ.ร.บ. Inflation Reduction Act (IRA) ซึ่งประกอบด้วยการใช้จ่าย 369 พันล้านดอลลาร์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการลงทุนโดยตรงในโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด การสนับสนุนการขนส่งรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
“ เงินทุนนี้เพิ่มเติมจาก 296 พันล้านดอลลาร์ที่ได้รับการจัดสรรจากร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานปี 2564 ถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เคยดำเนินการด้านสภาพอากาศและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง”
นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลพยายามให้สิ่งจูงใจให้ผู้บริโภคในการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น เช่น มีการให้เครดิตการปรับปรุงบ้าน ซึ่งช่วยให้ครัวเรือนสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 30% ของค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง นอกจากนี้ยังให้เครดิตภาษีแก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งใหม่และมือสอง และมีการจัดสรรการลงทุนที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเพื่อจูงใจให้ผลิตไฟฟ้าหรือปรับปรุงเครื่องใช้ภายในบ้านที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น
“จากศักยภาพตลาดสหรัฐในส่วนเศรษฐกิจสีเขียวชี้ว่าเป็นโอกาสของไทยซึ่งไทยมีจุดแข็งหลายด้าน เช่น สินค้าอาหารของไทยนับว่าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางหากเพิ่มplant-based foodจะเป็นโอกาสมากขึ้น ไทยมีความสามารถสูงด้านการออกแบบและการผลิต ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่ผู้นำเข้าให้ความสนใจผลิตสินค้าในไทย”
สำหรับสินค้า Green Products ไทยที่สหรัฐ นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ แล้วมีหลายรายการ ทั้ง แผงโซล่าร์เซลล์ สินค้าอุปกรณ์ Wind Power ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัทต่างประเทศไปลงทุนในไทย (FDI) อาหาร Plant Based Food และบรรจุภัณฑ์ (Food & Non Food)เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาครัฐของไทยควรจะมีการต่อยอดการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาด Green Economy ให้เป็นที่รู้จักให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะจุดอ่อนของสินค้าไทย ยังมีอยู่ทั้ง ราคาต้นทุนสินค้ามีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง การขาดความเป็นมาทำให้ผู้บริโภคยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดควรเลือกใช้สินค้าของไทย ดังนั้น การนักออกแบบและผู้ประกอบการไทยควรนำมีการนำเสนอเรื่องราวของสินค้า ให้ความรู้เรื่องวัตถุดิบ การอนุรักษ์ชุมชมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์