WAVE กางแผนยุทธศาสตร์ปี 66 พลิกโฉมรุกธุรกิจคาร์บอนเครดิตครบวงจร
WAVE เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 2566 พลิกโฉมครั้งใหญ่ รุกสู่ธุรกิจให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร ตั้งธงเป็นผู้นำถือครองคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มั่นใจธุรกิจเติบโตสูงตามเทรนด์ตลาดโลก คาดหวังผลประกอบการปีนี้เทิร์นอะราวด์
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE เปิดเผยว่า ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างใหญ่ธุรกิจครั้งใหญ่ของกลุ่ม WAVE เพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร (Carbon Credit และ Renewable Energy Certificate หรือ RECs) โดยเป็นตัวกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยน ให้คำปรึกษาและวางแผนด้านคาร์บอนเครดิต ทำหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากร ที่มีใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย Carbon Credit และ RECs
สำหรับธุรกิจใหม่ด้าน Carbon Credits/ RECs ของ WAVE ดำเนินการภายใต้ บริษัท Wave BCG ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีโมเดลให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร ทั้งการให้คำปรึกษา สำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ต้องการดำเนินการด้านคาร์บอนเครดิตแบบ One Stop Service การเป็นผู้พัฒนาและผู้ประเมินโครงการลดคาร์บอนเครดิต (V/VB) การศึกษาและจัดหาคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงการรับรองการผลิตพลังงานสะอาด (RECs) เพื่อขายในอนาคต
นายเจมส์ กล่าวอีกว่า "เป้าหมายของบริษัท ต้องการเป็นผู้นำ การถือครองคาร์บอนเครดิตในปริมาณที่สูงที่สุดในประเทศไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกลยุทธ์ในการจัดหา Carbon Credits และ RECs จะเน้นไปที่แหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม
ซึ่งตามบัญชี Evident ของ IRECs จากข้อมูลในปี 2565 แจ้งว่าเวียดนามมีการขึ้นทะเบียน RECs ทั้งหมด 5.74 ล้าน RECs โดย WAVE BCG ได้มีการถือครองอยู่ที่ 1.38 ล้าน RECs เท่ากับมีสัดส่วน Market share ถึง 23% ของ RECs ในเวียดนาม
โดยภายในปี 2566 คาดว่าการถือครอง Carbon Credits/ RECs จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตันคาร์บอน และภายในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.33 ล้านตันคาร์บอน
ขณะที่ปริมาณการซื้อขาย Carbon Credits/ RECs มีดีมานความต้องการของตลาดในประเทศไทย สูงถึง 100 ล้านตันต่อปี แต่มีการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพียง 7 ล้านตัน ซึ่งตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Markets) มีแนวโน้มเติบโต 15 เท่าในปี 2573 และ 100 เท่าในปี 2593
ส่วนตลาดภาคบังคับ (Compliance Market) ตามตัวเลขของสหภาพยุโรป (EU) มีปริมาณการซื้อขาย Carbon Credits/ RECs สูงถึง 36% ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีการปล่อยออกมา เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีปริมาณการซื้อขายเพียง 0.3% จึงมีโอกาสเติบโตได้สูงได้อีกมาก
ปัจจุบันราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตปรับตัวขึ้นสูงถึง 410% จากปี 2561 อยู่ที่ 21 บาท/ตัน และในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 107 บาท/ตัน ปัจจุบันราคาซื้อขายอยู่ที่ 50-150 บาท/ตัน ส่วนราคาในตลาดโลกซื้อขายกันที่ 18-70 ดอลลาร์/ตัน คาดว่าในปี 2575 มีแนวโน้มปรับขึ้นมา 80-150 ดอลลาร์/ตัน ตามความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งความแตกต่างของราคาขึ้นอยู่กับประเภท และแหล่งที่มาของ Carbon Credits และ RECs
ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม WAVE ในปี 2566 แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจประกอบด้วย 1.ธุรกิจให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท WAVE BCG คาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 150-200 ล้านบาท
2.ธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาวอลล์สตรีท (Wallstreet) ซึ่งในปีนี้จะยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่ม WAVE ปัจจุบันมีจำนวน 14 สาขา และมีแผนที่เปิดจะเพิ่มอีก 2 สาขาในปีนี้ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 500-550 ล้านบาท
3.ธุรกิจด้านสุขภาพและกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท WAVE Wellbing คาดว่าปีนี้มีรายได้ประมาณ 150 ล้านบาท
“ภาพรวมผลการดำเนินงานปีนี้ รายได้หลักยังจะมาจากวอลล์สตรีท โดยเราวางเป้าไว้ว่าจะทำให้ WAVE สามารถเทิร์นอะราวด์ได้ แต่กำไรจะไม่เยอะมาก เพราะบริษัทยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อลงทุนสำหรับอนาคต ส่วนรายได้จากธุรกิจ คาร์บอนเครดิต ช่วงแรกไม่หวือหวา ประมาณ 150-200 ล้านบาท แต่อนาคตจะเติบโตสูงตามเทรนด์โลก ที่ต้องการลดปริมาณคาร์บอนฯ เป็นธุรกิจที่บริษัทใช้เวลาศึกษามานานพอสมควร จึงมั่นใจในอนาคตจะสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ให้กับ WAVE”