ประโยชน์จากป่า และคาร์บอนเครดิต หนุนการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
โครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่า หรือ “Building Climate Resilience and Wildlife Connectivity in the Western Forex Complex Buffer Zone” เป็นกิจกรรม อนุรักษ์ ดำเนินงานโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพชุมชนรอบ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
และอุทยานแห่งชาติคลองลานให้มีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์ในพื้นที่ 'แนวกันชน' ผ่านการจัดการในรูปแบบ “ป่าชุมชน' จำนวนทั้งสิ้น 16 แห่ง
ซึ่งชุมชน ได้ดำเนินการจัดตั้งป่าชุมชนมาก่อนแล้ว โดยโครงการจะสนับสนุน และส่งเสริมให้ชุมชน สามารถจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งข้อมูลทางด้านวิชาการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ ตลอดจนงบประมาณ โครงการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเชิงบวก ด้านระบบนิเวศน์ และความยั่งยืนทางอาหารต่อชุมชนทั้งสิ้นกว่า 4,600 ครัวเรือน
โดยธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (ธนาคาร HSBC ประเทศไทย) และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ สนับสนุนโครงการ “สร้างความพร้อมต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อ ของสัตว์ป่าในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก
ธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทยนั้น ได้จัดทำโครงการเป็นโครงการที่ 2 ในประเทศไทย ภายใต้หลักการ Nature-based solutions หรือการใช้ธรรมชาติมาช่วยแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ตามข้อตกลงสนธิสัญญาปารีสในยุโรป โดยธนาคารเอชเอสบีซีได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณผ่านองค์กรที่ไม่ แสวงหาผลกำไร นำไปดำเนินการพัฒนากิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ชุมชนใน พื้นที่สําคัญ และพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อช่วยในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน
และช่วยสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า อย่างมีประสิทธิภาพ โดยธนาคารให้งบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 6.3 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2565-2567) โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ หลักที่เรียกว่า Climate Solutions Partnership ในระดับกรุ๊ปซึ่งพัฒนาขึ้นร่วมกับ WRI และ WWF เพื่อหาแนวทางป้องกัน และรับมือผลกระทบจาก Climate Change ส่วนอีกหนึ่ง โครงการในไทยที่ธนาคารได้ให้การสนับสนุนคือ โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า และอาหารยั่งยืน FLR 349 ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้หันมาสร้างป่าเพื่อการฟื้นฟูดิน น้ำ และอากาศ สร้างระบบอาหารปลอดภัย และอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชน
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมาย เพิ่มความมั่นคงทางอาหารและรักษานิเวศน์บริการที่ดี คุณภาพน้ำ คุณภาพดิน และอากาศ การจัดการผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ เช่น เห็ด หน่อไม้ ตลอดจนเพื่อรักษาและฟื้นฟู คุณภาพป่ากันชน และปลูกต้นไม้ฟื้นฟูพื้นที่ริมลำน้ำแม่วงก์ เพื่อลดการชะล้างพังทลาย รวมถึงเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ส่งเสริมให้เกิดความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ตัวโครงการยังมีเป้าหมายสร้างแนวเชื่อมต่อป่า เพื่อให้สัตว์ป่าในพื้นที่ เช่น เสือโคร่ง วัวแดง และช้างป่า ที่อาศัยหรือหากินอยู่ในพื้นที่สามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเชื่อมกันระหว่างพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก
แต่กระแสของโลกในปัจจุบันได้มีนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และในประเทศไทยเองได้มีโครงการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงถ้าใครไม่ทำก็ ‘เอาท์’ ถึงแม้มูลนิธิจะไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้โดยตรงแต่ก็เห็นว่า คาร์บอนเครดิตจะช่วยชุมชนสามารถสร้างรายได้ และลดความขัดแย้งระหว่างการดูแลป่าและชุมชนได้อีกด้วย
“เป้าหมายหลักคือ การรักษาป่า แก้ไขความขัดแย้งระหว่างชุมชนโดยหน่วยงานปัองกันรักษาป่าของกรมป่าไม้ เป็นหน่วยต้นแบบในการเจรจา และทำงานร่วมกับคนในชุมชนแทนการจับกุม ปรับความเข้าใจและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์