การท่องเที่ยวยั่งยืน 'คาร์บอนต่ำ' ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

การท่องเที่ยวยั่งยืน 'คาร์บอนต่ำ' ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

'การท่องเที่ยว' มีความสำคัญในการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ ซึ่งต้องควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ การบรรลุสู่เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย การจัดทำ Environment Map ส่งเสริมการประเมินมูลค่าทรัพยากรและการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

 

ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดทำผังภูมินิเวศระดับภาคเพื่อการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่รองรับและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสังคมคาร์บอนต่ำให้ครบทุกภูมิภาค ภายในปี 2570 รวมทั้ง การพัฒนาระบบ Digital Platform และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ คือ เป้าหมายการทำงานของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ 'วราวุธ ศิลปอาชา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวบรรยายหัวข้อ “Environment and Thailand’s tourism” ในงาน SKAL International Bangkok first Business Luncheon Talk of the year 2023 ว่าภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญในการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้

 

อาทิ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เช่น กลุ่มป่าแก่งกระจานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งล่าสุดของประเทศไทย และอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย โดยในอนาคตประเทศไทยจะเสนอหมู่เกาะอันดามัน และอุทยานธรณีโคราชเป็นแหล่งมรดกโลกต่อไป

 

 

ที่ผ่านมา ได้ให้นโยบายบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อมุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อาทิ การจองคิวเข้าอุทยานแห่งชาติผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และการจำหน่ายบัตรในรูปแบบ e-ticket การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอุทยานแห่งชาติภายใต้แนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) การส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การมอบรางวัล Green national park และ Green Hotel เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจให้หันมาสนใจการจัดการสิ่งแวดล้อม

 

รวมถึงข้อกำหนดที่ห้ามทำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับรู้และนำไปเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจ และกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำให้เพิ่มมากขึ้น เช่น

  • การห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด
  • การงดใช้ถุงพลาสติกและโฟมในเขตอุทยานแห่งชาติ  
  • มีสำรวจถ้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัย 15 ถ้ำ
  • อนุรักษ์โครงกระดูกวาฬอำแพง
  • การขอรับรองสถิติโลกไม้ตาก ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก
  • ประกาศจัดตั้ง 'อุทยานธรณีชัยภูมิ' จ.ชัยภูมิ เป็นอุทยานธรณีแห่งที่ 7 ของประเทศ
  • การประกาศให้ 'กลุ่มป่าแก่งกระจาน' ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศ
  • และการได้รับการรับรองให้ 'ดอยเชียงดาว' เป็น 'พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก' เป็นแห่งที่ 5 ของประเทศ

 

"การใช้ทรัพยากรจะต้องเกิดความคุ้มค่าสูงสุดเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับชุมชน รักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไว้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อส่งต่อถึงคนในรุ่นอนาคต และเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนให้กับชุมชนเพื่อความสุขของคนไทยและการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนววิถีใหม่ ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” รมว.ทส. ระบุ