‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ของไทย ทำอย่างไรให้ยั่งยืน
BCG Economy Model ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และหนึ่งในแนวคิดสำคัญ คือ 'เศรษฐกิจหมุนเวียน' (Circular Economy) ที่จะผลักดันการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- เศรษฐกิจหมุนเวียน อยู่ในนโยบาย BCG ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
- ประเทศไทย มีระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (นนว.) ซึ่งมี บพข. เป็นหนึ่งในหน่วยให้ทุนวิจัย โดยเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
- ขณะเดียวกัน การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องอาศัยความร่วมมือมีตั้งแต่นโยบาย โครงสร้างและปัจจัยเอื้อ ผู้ประกอบการ และประชาชน
-
วิจัย นวัตกรรม ต้องตอบคำถาม 'ทำไม' ต้องมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ทั้ง 2 มิติ คือ มิติสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ มิติเศรษฐกิจการค้าและการส่งออก
เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือ แนวคิดเชิงระบบในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์/บริการ และรูปแบบธุรกิจ ด้วยการจัดการผังการไหลของทรัพยากรให้เกิดการหมุนเวียน และการลดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนนำไปสู่การไม่มีของเสีย ตลอดจนผลักดันให้ธุรกิจเติบโตทางอย่างยั่งยืนในบริบทขององค์กร
โดยหลักการของ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ การใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัสดุ อย่างสูงสุดด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การปรับปรุงใหม่ การผลิตใหม่ การแปรใช้ใหม่ การออกแบบกระบวนการ การพัฒนารูปแบบธุรกิจและนวัตกรรม รวมถึงมีการติดตามผลเพื่อจัดการให้ผลิตภัณฑ์และวัสดุหมุนเวียนอยู่ภายในระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวในงานสัมมนา จับคู่วิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างธุรกิจ สร้างนักวิจัย เพื่อพัฒนาไทยอย่างยั่งยืน โดยระบุว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน แบ่งออกเป็น 2 สาย ได้แก่
วัฏจักรทางชีวภาพ (Biological cycle) คือ วัฏจักรที่สารอาหารทางชีวภาพถูกนำกลับคืนสู่โลกของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสร้างต้นทุนทางธรรมชาติและช่วยให้สามารถฟื้นฟูทรัพยากรทดแทนได้
วัฏจักรทางเทคนิค (Technical cycle) คือ วัฏจักรที่ผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัสดุได้รับการฟื้นฟูกลับสู่เศรษฐกิจโดยเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบ และวัสดุใหม่หรือมีการใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น
ตัวอย่าง โมเดลธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน
- Circular Supplies จัดหาวัสดุที่รีไซเคิลได้พลังงานหมุนเวียน วัสดุ ย่อยสลายได้มาใช้ เพื่อสนับสนุนความคิดแบบหมุนเวียน
- Resource Recovery จัดการไม่ให้เกิดการรั่วไหลของวัตถุดิบโดยนำกลับเข้ากระบวนการให้คุ้มค่าที่สุด
- Produce Life Extension ออกแบบผลิตภัณฑ์ & ส่วนประกอบ ให้มีอายุการใช้งานนาน ซ่อมได้ อัพเกรดได้ ขายต่อได้
- Sharing Platform กระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันใช้ผลิตภัณฑ์ร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- Product As Service ให้บริการในรูปแบบการเช่า หรือ การจ่ายเมื่อใช้งาน (Pay-for-use) แทนการซื้อขาด
ใช้วิจัย เพิ่มขีดความสามารถ
สำหรับประเทศไทย มีระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (นนว.) ซึ่งมี บพข. เป็นหนึ่งในหน่วยให้ทุนวิจัย โดยเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งต่อยอดเพื่อนำไปใช้ ผลิตจริง TRL เริ่มตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเชิงพานิชย์ มีหน่วยงานเอกชนร่วมลงทุน 10% มีกลไกนำผลงานไปใช้ประโยชน์และขยายผลชัดเจน เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมเซกเตอร์ใหม่ เกิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงให้กับผลิตภัณฑ์ การทำงานร่วมกัน รวมถึง เอกชนทำการวิจัย/หลุดพ้นจากกับดัก OEM และ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า รักษาสิ่งแวดล้อม
วิจัยอย่างไรให้ตอบโจทย์
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ภาพรวมเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย (CE) ว่า CE อยู่ในนโยบาย BCG เริ่มมีนโยบายนำ โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขณะที่ กระทรวงเริ่มมีนโยบายและยุทธศาสตร์ BCG – CE แต่ภาครัฐยังเข้าใจ CE แค่การรีไซเคิล-อัพไซเคิล ส่วน ภาคเอกชน โดยรายใหญ่เริ่มปรับตัว เริ่มมี CE Business Model ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกหันมาลงทุนในโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เพื่อผลิต PCR ป้อนตลาดสินค้า CE ในประเทศและต่างประเทศ, ห้างค้าปลีกส่งเสริมการคัดแยกขยะมากขึ้น
ภาคเอกชนมีการผลักดันให้ อย. ปลดล็อคข้อห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่มาจากพลาสติกรีไซเคิล (แต่ demand rPET ยังคงจำกัด เพราะรัฐไม่ได้บังคับ recycled content) อีกทั้ง ยังขาดมาตรการทางกฎหมายและมาตรการจูงใจเพื่อให้เกิดการจัดการขยะ (ทรัพยากร) อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง (ผลิต)(eco-design) กลางทาง (จำหน่าย/บริโภค) และปลายทาง (ขยะ) ขาดกลไก internalize the external cost : ไม่มีการเก็บ Fee เข้ากองทุนตามหลักการ Polluter Pay (เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่รัฐก าหนดให้ลด ละ เลิกใช้) เพื่อนำเงินกองทุนมาใช้ส่งเสริมจัดการขยะที่ต้นทาง
และมาตรการจูงใจที่ภาครัฐออกมายังไม่สามารถทำให้เกิด CE ขึ้นได้ (เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิล แต่ขาดมาตรการต้นทางที่จะจูงใจให้ประชาชนคัดแยกและส่งคืนวัสดุใช้แล้วเข้าระบบรีไซเคิล (EPR/DRS) ตลาดสินค้า CE ในประเทศยังจ ากัดมาก เพราะรัฐไม่บังคับเรื่องจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวหรือออกข้อกำหนด recycled content)
ข้อเสนอจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เกี่ยวกับ ระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Ecosystem) ของประเทศไทย ต้องมีตั้งแต่ด้านนโยบาย ด้านโครงสร้างและปัจจัยเอื้อ ด้านผู้ประกอบการ และด้านประชาชน โดยการสร้างความตระหนัก ขับเคลื่อนเชิงสังคม พฤติกรรมการบริโภค และการจัดเก็บวัสดุส่งคืนผู้จัด
ขยะ ปัญหาเรื้อรังของไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะพบว่า ขยะ นับเป็นปัญหาเรื้อรัง ทั่วประเทศมีขยะปริมาณกว่า 26-27 ล้านตัน สถานที่ฝังกลบขยะมากกว่า 2,000 แห่ง โดยกำจัดไม่ถูกต้องกว่า 80% อีกทั้งปัญหาไฟไหม้บ่อขยะ เช่น ในปี 2557 ที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา สมุทรปราการ รวมถึง การปนเปื้อนน้ำชะขยะในสิ่งแวดล้อม แหล่งปล่อยก๊าซมีเทน
อีกทั้ง วิกฤติขยะล้นเกาะ ขยะบกตกทะเลกระทบแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ซึ่งผลกระทบของการจัดการขยะไม่ถูกต้องมากมายมหาศาล แต่ยังไม่ได้มีการประเมินผลกระทบออกมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น โจทย์วิจัยจึงต้องตอบคำถาม “ทำไม” ต้องมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ซึ่งมีทั้ง 2 มิติ ได้แก่
มิติสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ฐานข้อมูล Material Footprint ของประเทศความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ พวกแร่ธาตุและโลหะพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ทองแดง เงิน ทองคำ พลวง อะลูมิเนียม รวมถึงวัสดุก่อสร้าง เช่น ทราย และซีเมนต์ ฯลฯ
- การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการจัดการขยะอย่างไม่ถูกต้อง ปัญหาวิกฤติขยะของประเทศ 90% ของสถานที่ฝังกลบจัดการไม่ถูกต้อง มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะ น้ำขยะ การปนเปื้อนของไมโครพลาสติก
มิติเศรษฐกิจการค้าและการส่งออก
- การประเมินผลกระทบทางการค้าและการส่งออก ถ้าทำไม่ได้ตามมาตรฐาน CE (เสียภาษี ค่าธรรมเนียม) ทั่วโลกใช้แนวคิด CE เพื่อบรรลุ Net Zero และแก้ปัญหาการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน (โดยเฉพาะพลาสติก, fast fashion) เงื่อนไข CE เป็นอุปสรรคต่อการค้าการส่งออก (เช่น ข้อกำหนดสัดส่วนพลาสติกรีไซเคิล, ภาษีพลาสติก เป็นต้น) ความเสี่ยงทางการค้าและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
- การประเมินค่าการสูญเสียโอกาสในการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์/สร้างมูลค่า รัฐสูญเสียเงินงบประมาณไปกับการเก็บ ขน และกำจัดขยะทั้งประเทศกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี สูญเสียโอกาสใน การนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่มองขยะเป็น “ทรัพยากร” และให้มีการจัดการตลอดวัฎจักรชีวิต ตั้งแต่การออกแบบสินค้า กฎหมายจัดการขยะปัจจุบันยังขาดมาตรการแก้ปัญหาที่ต้นทางและกลางทาง การสื่อสารรณรงค์ สร้างความตระหนัก (สำคัญ แต่ไม่ค่อยได้ผล ต้องทำต่อเนื่อง)
อุตสาหกรรมอาหารยั่งยืนได้อย่างไร
พฤฒิ เกิดชูชื่น บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ในฐานะอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า สำหรับอาหาร หากมองภาพกว้าง จะหมุนเวียนหมุนไปไม่เคยหมุนกลับและเป็นสิ่งที่ยาก หากระบบอาหารเป็นผลิตเองในบ้าน เราสามารถรีไซเคิล ได้ในวงแคบๆ ทำให้การจัดการทรัพยากรค่อนข้างสมบูรณ์ แต่เมื่อเป็นระบบการผลิต ที่กว้างขึ้น ทำให้การรีไซเคิลยากขึ้น
“ในอนาคต เมืองทุกเมืองอาจจะต้องมีระบบที่รวบรวมกากอาหาร กลับไปรีไซเคิล ทำให้เป็นประโยชน์ สู่ผืนดินที่ปลูกสิ่งเหล่านี้ออกมา นอกเหนือจากนั้น อาหาร เศษอาหาร ต่างๆ สามารถนำเอากลับมารีไซเคิล หรือ แม้กระทั้งอัพไซเคิลได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำ งานวิจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบรวบรวมขยะอาหาร จะต้องทำควบคู่กับการวิจัย พัฒนาระบบการผลิตอาหาร ซึ่งใช้อาหารอย่างหมดจด”
จะเห็นว่าเชฟรุ่นใหม่ มีแนวคิดในการทำ Zero Waste เมื่อทำอาหารขึ้นมา จะไม่มีส่วนเหลือแม้กระทั้งกระดูก เปลือกต่างๆ เขาสามารถพัฒนาเป็นเมนูที่เสิร์ฟได้โดยไม่เหลือเศษอาหารทิ้ง อีกส่วนหนึ่ง มีงานวิจัยระบุไว้ว่า ขยะอาหาร เกิดที่การเก็บเกี่ยว ก่อนที่จะส่งออกตลาด ทำอย่างไรจะสามารถรวบรวมเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกัน ตอนนี้เราผลิตอาหารเยอะเกินไป เกิดขยะอาหารกระจัดกระจาย
ถัดมา คือ การยกระดับผู้ประกอบการ ในส่วนของภาคเกษตร เกษตรกรทั้งหลายทุกวันนี้ หากอยากจะให้เขามีอาชีพที่ยั่งยืน ต้องยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในเชิงธุรกิจ ทำให้เขาเป็นผู้ประกอบการไต่บันได Value Chain ของสินค้านั้นๆ ให้สูงที่สุด เช่น ผลิตข้าว ต้องทำให้เขาขายข้าวสาร ไม่ใช่ขายข้าวเปลือก หรือข้าวที่มีแบรนด์ แปรรูปแล้ว พัฒนาข้าวเป็นสินค้า เป็นต้น และมองในเรื่องของความยั่งยืน แพกเกจจิ้งที่รีไซเคลิได้ง่าย
เปลี่ยนแปลงเกษตร เป็นคาร์บอนซิงค์
รวมถึง ทำอย่างไรจะทำให้ภาคเกษตร เปลี่ยนจากผู้ร้าย เพราะทุกวันนี้คนไทยปลูกข้าวเป็นผู้ร้ายเพราะเป็นผู้ปล่อยคาร์บอน แต่ความจริงเป็นได้ทั้งผู้ร้ายและพระเอก แค่เปลี่ยนข้าวเป็นการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ต้องทำในภาคเกษตรทุกผลิตภัณฑ์ นอกจากจะทำให้ระบบเกษตรยั่งยืน มีตัวเลขรองรับ จะทำให้เกษตรกรที่ยังทำเกษตรแบบผู้ร้ายกลับมาทำเกษตรที่เป็นพระเอก เพื่อให้ไทยได้บรรลุเป้าหมาย Net zero ทำอย่างไรให้พื้นที่เกษตร กลายเป็น คาร์บอนซิงค์ (Carbon Sinks) ให้ได้
นอกจากนี้ เรื่องของการสร้างความรับรู้ เราทำเรื่องเกษตรอินทรีย์มานาน แต่ไปไม่ถึงไหน ขณะที่ ประเทศอื่นพัฒนามี Market Share เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไทยยังนิ่งมาก อาจเพราะหลังจากโควิด-19 มา หลายคนต้องคำนึงถึงเรื่องการเงิน ที่เคยคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เริ่มน้อยลง เพราะสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มักจะราคาสูง เราต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องนี้ ส่วน ขยะอาหาร เราจะรวบรวมอย่างไร มีการพูดถึงกันเยอะ แต่การจัดการขยะอาหารมีการใช้ค่าใช้จ่ายเยอะมาก หากขยายขอบข่ายงานวิจัยลงไปที่ขยะอาหาร โดยเน้นอัพไซคลิ่ง (Upcycling) จะสร้าง Value มหาศาล
เฟอร์นิเจอร์และการออกแบบยั่งยืน
จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด ในฐานะโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ไม้แปรรูป โรงเลื่อย โดยส่งออก 60-70% และส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ดีสวัสดิ์ เข้ามาสู่ BCG เนื่องจากไม้ที่ใช้เป็นไม้ราคาสูง เราเก็บเศษไม้ กองไม้ต่างๆ ไม่เคยเอาไปทิ้งถังขยะ แต่คัดแยกขนาดต่างๆ หาดีไซเนอร์ นำไอเดียมาพัฒนา
“หลายคนมองว่าการอัพไซคลิ่ง เป็นการเอาขยะมาทำ แต่ผมไม่เคยทิ้งมันเป็นขยะ หากไม่ทิ้งเราก็จะเก็บไว้และมีปริมาณเยอะพอสมควรเพื่อนำมาใช้ใหม่ โดยคัดแยกไม่ว่าจะเป็นเศษสั้น ยาว ขนาดต่างกันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ ซึ่งไม่ใช่ขยะอัพไซคล่ง แต่เป็นดีไซน์ เพราะตอนจบเรามองว่าลูกค้าสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ฟังก์ชันของสินค้า"
ที่ผ่านมาบริษัทฯ เข้าร่วม “CIRCULAR MARK” โครงการ BCG Heros โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองว่าหากจะแก้ไขปัญหาได้ คือ 1. การลดขยะได้อย่างไร โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเปลือกไม้ ทำให้ส่วนที่ใช้งานไม่ได้น้อยที่สุด 2. การเก็บเศษเล็กน้อยมาสร้างมูลค่า และ สุดท้าย 3. Zero waste ดีไซน์ออกแบบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยทำร่วมกับเอสซีจี เนื่องจากเอสซีจี มี 3D Printer ของซีเมนต์ ออกแบบปูนทรีดีที่มีรอยปรุ สามารถกะเทาะและนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนต่างๆ ได้ เป็นการออกแบบตั้งแต่ก่อนเป็นขยะ
สำหรับงานวิจัย นวัตกรรม ที่อยากจะให้มี คือ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทางการตลาด ถัดมา คือ การตรวจสอบเพื่อต่อยอด หลายคนทำวัสดุใหม่ขึ้นมาเป็นก้อน แต่ถามว่าเอาไปใช้อะไรได้หรือไม่ หากไม่ทราบคุณสมบัติ ก็อาจไม่เกิดคุณค่า ดังนั้น ควรมีศูนย์ในการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำมาทดสอบได้ว่าดีพอหรือไม่ อยากให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติขั้นต้นก่อน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ เพื่อการรับรู้ ให้มีเครื่องมือในการทำการตลาด