ธนิษฐ์ สถาปนิกต้นแบบ งานดีไซน์กระดาษMOHo studio เท่และรักษ์โลก
ดีไซน์งานกระดาษในแบบที่ไม่เหมือนใคร และที่สำคัญรักษ์โลกจากไอเดียของธนิษฐ์ เจ้าของ MOHo studio บริษัทออกแบบงานกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อมเปิดมากว่า 8 ปี
คงเคยได้ยินเรื่องการนำกระดาษมาใช้ในงานออกแบบ เพราะไม่อยากให้เกิดขยะเป็นภาระของโลก แต่งานออกแบบกระดาษชิ้นใหญ่ๆ ในนิทรรศการ คนที่จะทำแบบนี้ได้ คงไม่ได้คิดแค่งานเท่ๆ แต่มีบางอย่างอยู่ในใจ จนเป็นชื่อของ MOHo studio บริษัทออกแบบงานกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อมของคนต้นคิด ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล เปิดมานานกว่า 8 ปี
ล่าสุดกับงานดีไซน์ในนิทรรศการบางกอก ดีไซน์ วีค 2023 เอากล่องกระดาษและฝาน้ำดื่มหลายหมื่นชิ้นมาสร้างสรรค์ใหม่แทนการจัดงานรูปแบบเก่าที่เป็นโครงสร้างเหล็กและไม้
- เรื่องกระดาษ...ไม่ได้รักเล่นๆ
ไม่ใช่แค่งานพับกระดาษเล็กๆ แบบโอริกามิ แต่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ สร้างไอเดียต่อยอด พัฒนาของนักออกแบบที่หลงรักกระดาษ และแค่หลงรักอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย
“งานกระดาษใครๆ ก็ทำได้ แต่ผมเรียนรู้วิธีการพับกระดาษ การขึ้นรูปต่อยอดเป็นงานศิลปะ ปกติผมชอบรูปทรงแปลกๆ อยู่แล้ว เคยนั่งคิดว่า บรรจุภัณฑ์บ้านเรา ถ้าไม่เป็นกล่องสี่เหลี่ยม จะเป็นสามเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยมได้ไหม ก็หาวิธีทำจากกระดาษจนเกิดความถนัด เอาความรู้มาต่อยอด สร้างมูลค่ามากขึ้น” ธนิษฐ์ เล่า และไม่ได้มองแค่การออกแบบกระดาษเท่ๆ แต่มีที่มาที่ไปเรื่องสิ่งแวดล้อม
บ้านแมวจากกล่องกระดาษ ทำมาสองปีแล้ว
"ในฐานะนักออกแบบที่คิดทุกอย่างก่อนก่อสร้าง ทำให้ผมรู้ปัญหาและพยายามหาวิธีแก้ปัญหา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำงานออกแบบเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะในการก่อสร้าง เมื่อมนุษย์เราอยู่บนโลกนี้ แล้วเราลุกล้ำธรรมชาติ ธรรมชาติโดนรังแก เราจะรักษายังไง”
- กระดาษเป็นมากกว่าความสวย
เมื่อรักที่จะทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ต้องคิดให้ไกล ธนิษฐ์คิดเชื่อมโยงให้เห็นว่า งานออกแบบกระดาษ จะไปช่วยใครได้บ้าง เมื่องานจบแล้วจะไปต่อที่ไหนอย่างไร
“ถ้าชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว เราไม่สามารถรักษาไว้ได้ ผมจึงขยายแนวคิดให้อยู่ในสตูดิโอ ผมเชื่อว่าการออกแบบที่ดี นอกจากสวยแล้ว ต้องสร้างความตระหนักให้คนเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
งานออกแบบของผมทำเพื่อสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมด งานด้านธุรกิจที่ช่วยขายของอย่างเดียวผมไม่ค่อยรับ ล่าสุดบริษัทเทสลา ให้ทำงานอีเว้นท์ที่สื่อถึงสิ่งแวดล้อม ”
ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล สถาปนิก เจ้าของ MOHo studio บริษัทออกแบบงานกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อม
ธนิษฐ์เลือกหยิบจับกระดาษมาออกแบบ เพื่อแก้ปัญหาสังคม จนเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบ มีทั้งนิทรรศการ ทำบูธจากกระดาษในงานอีเว้นท์ เพราะมองเห็นปัญหา งานบางชิ้นใช้เวลาออกแบบเป็นเดือน เมื่องานจบต้องรื้อถอนแล้วมีขยะเยอะมาก
“บางงานออกแบบเป็นเดือน เอาไปให้ใคร ก็ไม่มีใครอยากได้ จึงต้องทำลายทิ้งเป็นขยะกองใหญ่ ต้องเสียค่าจัดการขยะอีก ถ้ามีโอกาสผมจึงอยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้งานออกแบบมีการจัดการขยะดีกว่านี้”
เมื่อก่อนเขาก็เฉกเช่นนักออกแบบนิทรรศการทั่วไป ไม่ค่อยคิดเรื่องเหล่านี้ กระทั่งทำงานไปได้ปี สองปี ได้เห็นวัสดุมากมายกองเป็นขยะ อ้าว ! แล้วทำไมไม่ลองใช้วัสดุที่จัดการง่ายๆ ก็เลยศึกษาเรื่องกระดาษ เพราะครอบครัวมีธุรกิจเกี่ยวกับโรงพิมพ์อยู่แล้ว
เติมไอเดีย ทำกระดาษเป็นพวงหรีด
“ตอนนั้นงานสถาปัตย์กับงานกระดาษน่าจะจับเข้าด้วยกัน จึงเปิด MOHo Studio ผมรู้สึกว่า ถ้าเราทำธุรกิจแล้วไม่มีคนพูดถึงหรือจดจำ มันคงเป็นทางเดินที่เหงาและโดดเดี่ยว เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม แม้จะมีความตั้งใจ แต่พวกเขาไม่รู้วิธีพูดให้คนอื่นได้ยิน สตูดิโอผมจึงมีหน้าที่เป็นกระบอกเสียง นำเสนอออกมาในรูปแบบงานดีไซน์กระดาษ”
เมื่อจุดยืนชัดเจน ตัั้งใจว่าทุกงานออกแบบไม่ทิ้งเป็นขยะ จึงต้องคิดตั้งแต่ออกแบบว่า หลังจากจบงานแล้ว จะนำไปส่งมอบให้ใครใช้งานต่อ ยกตัวอย่างมอบให้มูลนิธิ เพื่อให้เด็กๆ นำไปใช้ระบายสี
"ผมเคยทำงานกับเด็กๆ บ้านราชานุกูล ผมเห็นว่าในห้องศิลปะ มีหุ่นกวางตัวใหญ่หนาตัวเดียว เด็กๆ ก็นั่งระบายสีทุกวัน ครูก็เลยต้องเอาสีขาวทาทับ เพื่อให้เด็กๆ ได้ระบายสีใหม่ ผมจึงส่งหุ่นกระดาษไปให้เพื่อใช้ระบายสี”
ใหญ่แค่ไหนก็ทำได้ ขอเพียงเข้าใจการดีไซน์กระดาษ
- ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
ย้อนไปถึงตอนเปิด MOHo Studio คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จักงานที่ธนิษฐ์ทำ และตัวเขาเองก็ไม่กล้าบอกใครๆ ว่า ทำงานออกแบบกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อม
"ตอนเริ่มทำ ผมต้องตระเวนค้นหาว่า มีที่ไหนทำงานออกแบบกระดาษบ้าง ก็ไปเจอสถาปนิกที่ญี่ปุ่น ออกแบบกระดาษทำเป็นบ้านพักเพื่อผู้ประสบภัย เพราะกระดาษน้ำหนักไม่เยอะ ใช้เวลาทำไม่นาน ต่างจากการก่ออิฐก่อปูน
ในบ้านเราก็มีกลุ่มคนที่ทำเรื่องนี้อยู่ ตอนที่คนต้องการเตียงเพื่อผู้ป่วยโควิด ผมก็ออกแบบเตียงกระดาษกว่าสองหมื่นเตียงส่งไปให้โรงพยาบาลชั่วคราวทั่วประเทศ ทางเอสซีจีก็ช่วยเหลือเรื่องกระดาษ ช่วยกันทำในราคาต้นทุน นอกจากนี้ยังมีส้วมกระดาษด้วย
ผมอยากให้ธุรกิจของผม เป็นต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อยากให้งานดีไซน์แบบนี้ เป็นพื้นฐานของนักออกแบบทุกคน งานออกแบบกระดาษที่ผมทำราคาไม่ถูก เพราะมีค่าจัดการและมีการนำไปบริจาคต่อ สามารถช่วยคน ช่วยสิ่งแวดล้อม และลดคาร์บอน ผมคำนวณไปถึงต้นไม้ที่จะถูกตัด”
และเมื่อสองปีที่แล้ว คนรักแมวเช่นธนิษฐ์ออกแบบบ้านแมวจากกระดาษ เพราะรู้สึกขัดใจเวลาจะถ่ายรูปแมวในกล่องที่ไม่สวย และยังพัฒนาต่อยอดทำพวงหรีดหนังสือกระดาษ
“ความรู้เรื่องกระดาษ ผมก็ยังศึกษาตลอด คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่ากระดาษไม่ทน ตอนนี้บ้านแมว ผมก็ยังทำอยู่ ผมใช้เศษผ้าปุรถยนตร์ที่ทิ้งแล้วมาทำบ้านแมว นอกจากนี้ผมไปให้ความรู้ชาวบ้านลองทำกระดาษสาจากฟางข้าว สร้างบรรจุภัณฑ์ไม่เหมือนใคร ทำให้ชาวบ้านมีความรู้เรื่องกระดาษเพิ่มขึ้นในสามชุมชน”
- กระดาษพวงหรีด
แม้ตอนนี้ผู้ร่วมงานในสตูดิโอของเขาจะมีแค่ 4 คน เพราะช่วงโควิดระบาดหนัก งานที่ทำมีน้อย เขาจึงปล่อยให้คนทำงานออกไปค้นหาตัวเอง และล่าสุดกำลังจะรับพนักงานเพิ่ม แต่คนทำงานก็ต้องเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
"ตอนนี้ผมกำลังทำโครงการอาลัยให้ปัญญา พวงหรีดหนังสือกระดาษ เพื่อแก้ปัญหาให้คนสามกลุ่ม นั่่นก็คือ ปัญหาคนบริจาคหนังสือเก่าให้โรงเรียน, ปัญหาโรงพิมพ์สมัยนี้ขายหนังสือไม่ค่อยได้ และปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเวลางานศพให้พวงหรีดดอกไม้สดกลายเป็นขยะเน่าเหม็น
พวงหรีดกระดาษที่ทำด้านในจะเป็นหนังสือ เมื่อจบงานแล้วส่งมอบให้โรงเรียนได้ และพวงหรีดที่มีหนังสืออยู่ด้วย ไม่ว่าหนังสือธุรกิจ ทำอาหาร หนังสือเยียวยาจิตใจ ควรเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมมองว่าน่าจะมีประโยชน์”
เพราะกระบวนการทำงานออกแบบกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ เขาเลือกที่จะทำจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
“เวลาผมจะออกแบบงานให้ลูกค้า ผมจะลงลึกดูแผนธุรกิจด้วย บางทีเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย เพื่อเติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าจ่ายเงินเสร็จแล้วจบ ผมเลือกคู่ค้าคู่คิดด้วย และถ้าบริษัทเหล่านั้นเอากระบวนการที่ผมทำงาน ถ้าไปใช้ต่อหรือขยายผล ผมมักจะแอบยิ้มเวลาไปเดินดูงานอีเว้นท์หรือชมนิทรรศการเหล่านั้น"
เมื่อคิดออกแบบเรื่องใดแล้วมีคนนำไปใช้ต่อ นั่นคือความสุขเล็กๆ ที่ธนิษฐ์ปลาบปลื้ม