‘5 รหัสแดง’ ภัยพิบัติ ไทยเสี่ยงแค่ไหน ต้องรับมืออย่างไร
ในปีที่ผ่านมาเรียกว่าประเทศไทยเจอ 'ภัยพิบัติ' ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า คาดการณ์ว่าไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจไปกว่า 1.2 - 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้พูดถึงรหัสแดงต่อมนุษยชาติ 5 เรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าไทยต้องพบกับความเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่อง 'น้ำท่วม'
- น้ำท่วมปี 2565 ทำเศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า
- ที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถึง รหัสแดงต่อมนุษยชาติ 5 เรื่องสำคัญ ที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนและนำไปสู่วิกฤติน้ำท่วม
- 'ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ' ร่วมกับ ESRI พัฒนา Urban Hazard Studio ฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยี GIS มาวิเคราะห์เชิงพื้นที่ ประเมิน เผยแพร่ สร้างความตระหนักต่อสังคม รับมือสถานการณ์ในอนาคตของประเทศ
- นอกจากนี้ ยังเล็งต่อยอด การพัฒนาข้อมูลที่เกี่ยวกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสึนามิ ฝุ่น PM2.5 ในอนาคตอันใกล้
ข้อมูลจาก 'ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ' พบว่า ภาพรวมน้ำท่วมปี 2565 ทำเศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2595 ยิ่งไปกว่านั้น World Economic Forum Global Risk ได้คาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่
1. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure)
2. สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather)
3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss)
ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรเสี่ยงประสบภัยพิบัติถึง 34% โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจรวมทั้งสิ้นสูงถึง 1.2 – 2 หมื่นล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ 2566 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวในงาน เสวนาพิเศษ หัวข้อ ‘ถอดโมเดล Urban Hazard Studio’ สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จับตาภัยพิบัติ กรุงเทพ หากเกิดฝนร้อยปี โดยระบุว่า โลกทั้งใบกำลังป่วย การเจ็บป่วยของโลกล้วนมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น แต่เดิม 1.2 องศา จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามมาด้วยความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรา
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังเสี่ยงเพิ่มตามลำดับหากไม่เยียวยาโลกใบนี้ อีกทั้ง ความเสี่ยงเหล่านี้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนกว่าในอดีต ด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลการตรวจจับต่างๆ ดีขึ้น การใช้แบบจำลองต่างๆ ในการคาดการณ์เริ่มแม่นยำ จนกระทั่งในปัจจุบัน เราสามารถคาดการณ์ 200 ปีข้างหน้าของโลก”
5 รหัสแดง กระทบไทย
เมื่อปีที่ผ่านมา แอนโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึง รหัสแดงต่อมวลมนุษยชาติ (Code Red for Humanity) 5 เรื่องหลัก ที่ไทยจะได้รับผลกระทบ ได้แก่
1. จากนี้ต่อไปอุณหภูมิมีแต่จะสูงขึ้น คลื่นความร้อนจะตามมา
2. เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น น้ำระเหย ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพราะระเหยไปหมด ภัยแล้งจะตามมา
3. น้ำที่ระเหย อาจจะมองว่าหายไป แต่ความจริงอยู่ด้านบน อยู่ในรูปของไอ ฤดูฝนเมื่อเจอความเย็นจะตกมาเป็นฝนและตกหนัก
4. หากมีความเปราะบางในพื้นที่ น้ำจะท่วม
5. เมื่ออุณหภูมิสูง เรามีทะเล 2 ใน 3 เมื่อทะเลร้อนขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น กทม. อยู่ในระดับเรี่ยกับน้ำทะเล จะเกิดอะไรขึ้น
“หากเราไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต เราจะเจอกับปัญหาน้ำท่วม ฝนตกและทำให้น้ำหลากเข้าเมือง รอการระบาย และน้ำทะเลหนุนสูง เราหนีไม่พ้นน้ำรอการระบายเพราะเราอยู่ที่ต่ำ”
ความเสี่ยงน้ำท่วม 3 ประเภท
จากข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงน้ำท่วมได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. น้ำท่วมเมือง (Urban flooding) หรือน้ำท่วมรอการระบาย เกิดจากการที่ฝนตกหนักในเมืองเกินกว่าความสามารถของระบบระบายน้ำ
2. น้ำล้นฝั่งจากแม่น้ำ (River flooding) เกิดจากปริมาณฝนตกหนักเกินความจุลำน้ำ ทำให้หลากล้นฝั่งเข้าท่วมชุมชน เช่น กรณีเหตุการณ์ในปี 2554 , 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา
3. น้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal flooding) เกิดขึ้นกับชุมชนหรือเมืองริมชายฝั่งทะเล เมื่อต้องเผชิญกับระดับทะเลที่สูงขึ้นอย่างถาวร
"น้ำท่วมทั้ง 3 ประเภท มีแนวโน้มของความถี่และความรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ทำกิน มีการประเมินปริมาณฝนที่ตกหนัก 1 วัน บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 20 - 30% ปริมาณฝน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 200 มม./วัน เป็น 250 มม./วัน พร้อมกับจำนวนวันที่ฝนตกหนัก มีโอกาสเพิ่มขึ้น 60 - 80% ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบายจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น"
กทม.ปริมณฑล เสี่ยงจมน้ำถาวร
ขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยามีโอกาสเพิ่มขึ้น 20 - 30% เช่นกัน กล่าวคือ ฝน 100 ปีปัจจุบัน จะกลายเป็นฝน 10 ปีในอนาคต ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปี 2554 จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีในอนาคต
สุดท้าย สำหรับน้ำท่วมชายฝั่ง มีการประเมินโดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณปากแม่น้ำประมาณ 0.39 ม. ในปี 2573 , 0.73 ม. ในปี 2593 และ 1.68 ม. ในปี 2643 ตามลำดับ จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จมน้ำอย่างถาวรหากไม่มีมาตรการรับมือ
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ต้องบริโภคน้ำประปากร่อยจากน้ำเค็มที่รุกล้ำ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อพืชสวนทุเรียนและกล้วยไม้ใน จ.นนทบุรี และ จ.นครปฐม ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ แผนงานต่อไปในอนาคตมีแผนที่ร่วมมือกันประเมินภัยคุกคามด้านอื่น ๆ ต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง สึนามิ พายุ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้กับชุมชนต่อไป
ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.2 - 2 หมื่นลบ.
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” ถึงเทรนด์ของภัยพิบัติจากธรรมชาติ ว่า หากมองย้อนไปในปี 2022 เรียกว่า เป็นปีแห่งภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่า หรือแม้แต่ปีนี้ ผ่านมาเพียงแค่ 2 เดือน ทั่วโลกมีภัยพิบัติมากขึ้น ข้อมูลจาก UN มองว่าหากไม่ทำอะไรเลย ในปี 2030 ทั้งโลกจะมีสถานการณ์อากาศสุดขั้ว หรือ ภัยพิบัติ 500 กว่าครั้งต่อปี สิ่งนี้ทำให้เราต้องตื่นตัวและดูว่าปัจจุบัน มีสามารถทำความเข้าใจและป้องกันอย่างไร
“ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีความเสียหายกว่าแสนล้านดอลลาร์ และการคาดการณ์การสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจกว่า 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ใน 30 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน หากมองย้อนไปในปี 2011 หรือ ปี 2554 ที่มีน้ำท่วมขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความเสียหายวงกว้าง ในปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจรวมทั้งสิ้นสูงถึง 1.2 – 2 หมื่นล้านบาท หากนำเงินจำนวนนี้มาพัฒนาประเทศ จะสามารถพัฒนาได้อีกไกล เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักว่า ต้องเข้าใจและรับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าเพื่อป้องกันอย่างเป็นระบบ”
จากความเสี่ยงเทคโนโลยี สู่ความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม
จากรายงานของ World Economic Forum หากติดตามรายงานฉบับนี้ก่อนปี 2015 ความเสี่ยงของโลกจะอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีที่คนเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อเทคโนโลยี แต่หลังจากปี 2015 โดยเฉพาะ 2-3 ปีมานี้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมกลายเป็นองค์ประกอบหลักของความเสี่ยง เรากำลังพูดถึงความเสี่ยงที่ปัจจุบันยังไม่มีระบบจัดการกับสภาพอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเสียหายจากการกระทำของมนุษย์ และอื่นๆ
พัฒนาฮับ ข้อมูลสภาพแวดล้อม
ทั้งนี้ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาภายใต้ MQDC ที่สนใจเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี (For all well – being) มองเห็นผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว เช่น Extreme weather ที่ส่งผลให้ต้องเผชิญกับปริมาณฝน หรือคลื่นความร้อนที่มากขึ้น ซึ่งหากไม่เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ จะนำมาซึ่งผลกระทบและความสูญเสีย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล เช่น การสูญเสียผลผลิตในภาคการเกษตร คุณภาพสินค้า การส่งออก ด้านความเป็นอยู่ รวมถึงมูลค่าที่ต้องฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยต่าง ๆ
สำหรับการร่วมมือในการพัฒนา Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จากการนำความสามารถของเทคโนโลยี GIS ของ ESRI ที่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และได้เชิญ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มาร่วมให้ความรู้และให้ข้อมูลเชิงลึก โดยมีเป้าหมายในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมิน และเผยแพร่ เพื่อสร้างความตระหนักต่อประชาชนและสังคม
รวมทั้งเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคตของประเทศต่อไป ด้วยหวังให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อม และร่วมป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม อีกทั้งต้องการให้เกิดความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเริ่มต้นทำการศึกษาภัยจากน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากเกิด ‘ฝนร้อยปี’ ที่นับเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ข้อมูลเชิงพื้นที่รับมือน้ำท่วม
ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Urban Hazard Studio ที่ใช้ความสามารถจากเทคโนโลยี GIS หรือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ นำมาวิเคราะห์ วิจัย ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น รวมถึง Climate Change ด้านอื่น ๆ ที่ทำให้สามารถตรวจวัด วิเคราะห์ และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในมุมของ Climate Crisis ต่าง ๆ ใน 3 เรื่องหลัก คือ
- ช่วยประเมินผลกระทบในรูปแบบแผนที่
- ช่วยวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต
- ช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการกับภัยจากธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ในเรื่องของการประเมินผลกระทบผ่านการสื่อสารด้วยภาพ ทำให้เห็นรูปแบบหรือเหตุที่เกิดชัดเจนขึ้น
สามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น เห็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ บนสภาพจริงแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถวางแผนรับมือกับปัจจุบันและเตรียมตัวสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถรู้จุดเกิดเหตุภัยต่าง ๆ รวมถึงคาดการณ์อนาคต ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ และพืช สามารถประเมินความเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงในเชิงพื้นที่ หรือใช้ GIS Tool วิเคราะห์มูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ
“หัวใจสำคัญคือช่องทางการสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นถึงภาพและผลกระทบ รวมทั้งช่วยตัดสินใจในการหาแนวทางตั้งรับ ซึ่งเทคโนโลยี GIS ตอบโจทย์ในการนำเสนอและสร้างเป็นแอปพลิเคชันที่แชร์ให้กับผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูและใช้งานได้”
ตัวอย่างในต่างประเทศ
ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี GIS เข้าไปช่วยในเรื่อง Climate Change มีให้เห็นอยู่มาก ตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ มีความกังวลในเรื่องของ Urban Heat จากข้อมูลด้านการปล่อยพลังงานความร้อนในพื้นที่เมืองที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศา ทางแก้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเทคโนโลยี GIS สามารถช่วยวิเคราะห์และชี้เป้าให้ได้ว่าควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวตรงไหน ในรูปแบบใด และสามารถคำนวณได้ว่า เมื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจุดนั้น ๆ แล้ว จะช่วยลดพลังงานความร้อนลงไปได้มากขึ้นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี GIS ไม่ใช่เพียงแค่การทำแผนที่ แต่จะเป็นเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้าน Climate Change ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ภาคส่วน ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ESRI และ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม ด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสึนามิ ฝุ่น PM2.5 ในอนาคตอันใกล้นี้
สามารถเข้าใช้งาน Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม ได้ที่ คลิก