การบูรณาการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) ในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคาร
ท่ามกลางปัญหาสภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ที่ทุกคนสามารถประจักษ์และตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยนำปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่ระดับโลก
จากผลการประชุมที่มีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 นั้น นอกเหนือจากนี้ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในมิติต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) บนแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ล่าสุดในวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ภายใต้คณะทำงาน Thailand Taxonomy (ฉบับร่าง) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะภาครัฐ ภาคธุรกิจรวมถึงบุคคลทั่วไป
ธุรกิจธนาคารถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว การเร่งดำเนินการจากทั้งภาคธนาคารและลูกค้าของธนาคารเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพิจารณาสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอนหลักและมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกขั้นตอน ดังนี้
1.การกำหนดกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ - ธนาคารควรนำระบบการให้คะแนนที่อ้างอิงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือดัชนีชี้วัดตัวอื่นๆ เพื่อให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความเสี่ยงในแต่ละประเภท ตามมุมมองที่แตกต่างกันเช่น ประเภทอุตสาหกรรม และประเภทลูกค้า เป็นต้น และใช้ร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ
นอกเหนือจากนี้ธนาคารควรมีการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อจัดการกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยขยายการปล่อยสินเชื่อสีเขียว (Green Financing) เพื่อชดเชยกับสินเชื่อที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า สำหรับบ้านที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้ผู้กู้เข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยเช่นกัน
2. การกำหนดกลุ่มลูกค้า – ธนาคารควรประเมินผลกระทบจากทั้งความเสี่ยงจากผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (Physical Risk) และความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการออกกฎระเบียบของทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Transition Risk) ต่อความเสี่ยงด้านเครดิตตั้งแต่เริ่มต้นทำความสัมพันธ์กับลูกค้ารายใหม่ ซึ่งขอบเขตในการประเมินลูกค้านั้นอาจขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรม และภูมิภาคของลูกค้า โดยธนาคารควรขอข้อมูลลูกค้าเพิ่มเติมในแนวทางการใช้พลังงานสำหรับธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลห่วงโซ่อุปทาน และข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อรายได้ เป็นต้น
3. การพิจารณาและการอนุมัติสินเชื่อ – ธนาคารควรพิจารณาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมในการจัดทำ Credit Rating ซึ่งถือเป็นข้อมูลหลักที่ธนาคารใช้ในการพิจาณาสินเชื่อ โดยพิจารณาถึง Physical Risk และ Transition Risk เพื่อใช้ในการอนุมัติสินเชื่อ ทั้งนี้ธนาคารอาจจัดอันดับเสมือน(Shadow Rating) ที่แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการทำ Credit Rating แบบปกติ และกำหนดแนวทางในการปรับเปลี่ยนเมื่อข้อมูลจาก Rating ทั้ง 2 แบบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเป็นนัยสำคัญ
4.การจัดการหลักประกัน – ทั้ง Physical Risk และ Transition Risk สามารถส่งผลกระทบต่อมูลค่าของหลักประกัน เช่น การเกิดภัยธรรมชาติที่ทำให้หลักประกันเสียหาย หรือการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารยังมีช่องทางที่จำกัดในการถ่ายโอนความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากตลาดในเรื่องนี้ยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ยากต่อการพัฒนากลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยง ดังนั้นธนาคารจึงจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ใหม่โดยทำงานร่วมกับคู่ค้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจรวมถึงการร่วมมือกับบริษัทประกันภัยและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อออกแบบตราสารอนุพันธ์เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5.การบริหารพอร์ตสินเชื่อ – ธนาคารจะต้องพัฒนาแนวทางในการประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับผู้กู้และระดับพอร์ตโฟลิโอ โดยใช้ข้อมูลในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือกลยุทธ์ในการจัดการ Transition Risk เป็นต้น รวมทั้งการทดสอบภาวะวิกฤตโดยใช้สถานการณ์ในสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้และต้นทุนในการดำเนินการของธนาคาร เพื่อใช้ในการบริหารพอร์ตสินเชื่อให้ครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
6.การจัดการบัญชีที่ผิดนัดชำระหนี้ – ธนาคารควรพิจารณาสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ เช่น บริษัทเทคโนโลยีที่ไม่สามารถคืนชำระเงินต้นได้ อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับน้ำท่วมใหญ่ที่อื่นในโลก เป็นต้น และรวบรวมสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต และป้องกันไม่ให้แบบจำลองด้านเครดิตมีการประเมินความเสี่ยงสำหรับผู้กู้ที่ต่ำเกินไป ทำให้มีการให้สินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
7.การจัดทำรายงานและการเปิดเผยข้อมูล – การรายงานตาม Task Force on Climate Related Financial Disclosures (“TCFD”) เป็นการรายงานตามมาตรฐานสากลที่จัดทำขึ้นเพื่อให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้มีการรายงานใน 4 ด้านคือ การกำกับดูแล กลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และตัวชี้วัดและเป้าหมาย ธนาคารควรพัฒนาแนวทางเพื่อจัดทำ TCFD พร้อมทั้งเก็บข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสในช่วงเวลาต่างๆ และการกำหนดบทบาทของฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริหารในการจัดการทั้งสองเรื่องนั้นอย่างเป็นระบบ
การบูรณาการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตนั้น ถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบที่สูงสำหรับธนาคารที่อาจทำให้ธนาคารมีต้นทุนและภาระที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของผู้กู้ที่จะต้องมีการกำหนดแนวทางในการจัดการกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและให้ข้อมูลกับธนาคารที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อสร้างอนาคตสำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร