แนวโน้มด้าน ESG ในต่างประเทศ | ภาณุพันธุ์/ภูมิภัทร
ที่ผ่านมามีบริษัทและกองทุนจำนวนมากเริ่มใช้นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มผลกำไรและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฯลฯ
ESG น่าจะเป็นตัวย่อที่หลายท่านได้ยินบ่อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ESG ย่อมาจาก สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)
หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ก็มีความพยายามในการร่างและนำกฎเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG มาปรับใช้ในประเทศของตนเอง
ในส่วนนักลงทุนเองก็มีความต้องการการเปิดเผยข้อมูลในด้านนี้มากขึ้น เพื่อพัฒนากลยุทธ์การลงทุนตามนโยบาย ESG ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ESG จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยต้องจับตามอง
ในครั้งนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอโดยย่อเกี่ยวกับแนวโน้ม ESG ซึ่งสำนักงานกฎหมาย Simpson Thacher & Bartlett LLP สำนักงานกฎหมายชั้นนำของสหรัฐ ได้ให้ความเห็นเอาไว้ใน ESG: 5 Trends to Watch in 2023 ที่เผยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
การเตรียมการออกกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับ ESG จำนวนมาก
หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกกำลังเร่งออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่ทางกฎหมายเกี่ยวกับ ESG ที่ซับซ้อนและเข้มงวด
กฎเกณฑ์เหล่านี้มุ่งเน้นที่จะเพิ่มการเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวเนื่องกับความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และประเด็นด้าน ESG อื่น ๆ ในบางกรณี
กฎเกณฑ์เรื่อง ESG ของแต่ละประเทศมาจากกฎเกณฑ์ระดับนานาชาติชุดเดียวกัน ทำให้มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีบางกรณีที่กฎเกณฑ์แทบจะไม่คล้ายคลึงกับของประเทศอื่น ๆ เลย
ความหลากหลายของกฎเกณฑ์เรื่อง ESG นั้นจึงเป็นความท้าทายใหม่ของบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่มีความหลากหลายของแต่ละประเทศ
สำนักงานกฎหมาย Simpson Thacher & Bartlett LLP มองว่า จนถึงปัจจุบันแนวโน้มของการรายงานและการตรวจสอบเกี่ยวกับ ESG ในหลายประเทศ ได้รับอิทธิพลมาจากกฎเกณฑ์ในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร
ในขณะที่ในสหรัฐ กล่าวกันว่าปีนี้อาจจะเป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับกฎเกณฑ์ด้าน ESG
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐหรือ SEC เสนอเมื่อปีที่แล้ว
กฎนี้มีผู้ให้ความสนใจ รวมถึงแสดงความกังวลเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากการที่ SEC ได้รับจดหมายแสดงความคิดเห็นมากกว่าหนึ่งหมื่นฉบับเกี่ยวกับกฎเกณฑ์นี้
กระแสต่อต้าน ESG ในสหรัฐ
เมื่อปีที่แล้ว เริ่มมีความเคลื่อนไหวต่อต้านกระแส ESG และความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ หลายรัฐในสหรัฐเริ่มออกกฎหมายที่ต่อต้านเรื่อง ESG ซึ่งส่งผลต่อทั้งบริษัทของสหรัฐและบริษัทต่างประเทศ
เมื่อช่วงปี 2021 และ 2022 18 รัฐของสหรัฐออกกฎหมายห้ามรัฐบาลของรัฐทำธุรกิจกับสถาบันการเงินที่ใช้นโยบายด้าน ESG บางด้าน
เช่น รัฐฟลอริดาออกข้อเสนอในการห้ามกองทุนบำนาญของรัฐและผู้บริหารการลงทุนตัดสินใจโดยใช้ปัจจัยเกี่ยวกับ ESG รัฐอื่น ๆ ก็มีความเคลื่อนไหวคล้าย ๆ กัน
เช่น รัฐเท็กซัสและรัฐเวสต์เวอร์จิเนียได้ออกกฎหมายขึ้นบัญชีดำสถาบันการเงินซึ่งคว่ำบาตรเชื้อเพลิงฟอสซิล
ข้อมูลเกี่ยวกับ ESG รูปแบบใหม่
ข้อมูลเกี่ยวกับ ESG โดยทั่วไปนั้นยากที่จะประเมินมูลค่าและผลกระทบต่อบริษัท เหตุนี้ทำให้มีแรงผลักดันให้มีแนวคิดการเปิดเผยข้อมูลแบบใหม่
วิธีการใหม่ในการเปิดเผยข้อมูล เช่น การใช้ดัชนี ESG เรตติ้ง และการเปิดเผยข้อมูลที่เน้นการเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน
เป็นที่คาดหมายว่า กฎเกณฑ์ใหม่ ๆ จะสะท้อนให้เห็นความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ที่มีความครอบคลุม เปรียบเทียบได้ และน่าเชื่อถือ และเป้าหมายของผู้ออกกฎก็คือการช่วยให้นักลงทุนได้รับข้อมูลเหล่านั้น
ความต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือน่าจะส่งผลให้เกิดความต้องการในตรวจสอบบริษัทด้าน ESG ที่เข้มงวดขึ้น
การฟ้องร้องเกี่ยวกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้นและหลากหลายมากขึ้น
ที่ผ่านมาคดีเกี่ยวกับ ESG ส่วนมากนั้นเป็นคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในช่วงหลังคดีเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เริ่มมีมากขึ้น ควบคู่กับคดีเรื่องการละเมิดและการคุ้มครองผู้บริโภคที่เน้นพุ่งเป้าไปที่บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล
ในขณะเดียวกัน การฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นสังคม (Social) ก็กำลังเพิ่มมากขึ้น เช่น การฟ้องร้องเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบและความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ เช่น การฟ้องร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานหรือในระดับชุมชน
ในส่วนของประเทศไทย เรื่อง ESG นั้นก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจค่อนข้างสูง และเป็นที่น่าจับตามองว่าหน่วยงานกำกับของไทยจะพัฒนากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับ ESG ไปในรูปแบบไหน
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าจับตามองกันต่อไปว่าแนวโน้มด้าน ESG ของนานาประเทศจะส่งกระทบต่อแนวทางการออกกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับในประเทศต่าง ๆ อย่างไร
คอลัมน์ Business&Technology Law
ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล
ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น