ESG Footprint : รอยเท้าความยั่งยืนในสายอุปทาน
กิจการที่ได้ทำการสำรวจซึ่งประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน 763 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 91 ราย รวมทั้งสิ้น 854 ราย ยังมิได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผู้ส่งมอบในประเด็นด้าน ESG อย่างทั่วถึง
หลายท่านคงได้ยินคำว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ซึ่งเป็นการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร โดยคำนวณในหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อที่กิจการจะได้ทราบแหล่งและสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสําคัญและหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา อันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ที่จริงยังมีการใช้เรื่องฟุตพรินต์ที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายคำ เช่น วอเตอร์ฟุตพรินต์ขององค์กร (การประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร) พลาสติกฟุตพรินต์ขององค์กร (การประเมินปริมาณพลาสติกที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร)
ขณะที่ คณะกรรมาธิการยุโรป ได้มีการใช้เรื่องฟุตพรินต์ในการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้เป็นคำรวม เรียกว่า Environmental Footprint ในเอกสารข้อเสนอแนะ (EU) 2021/2279 การใช้วิธีรอยเท้าสิ่งแวดล้อมเพื่อวัดและสื่อสารสมรรถนะทางสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และองค์กร เพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบใน 11 หมวด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การร่อยหรอของชั้นโอโซน (ozone depletion) ความเป็นพิษต่อมนุษย์ (human toxicity) อณูมลสาร/สารอนินทรีย์ที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ (particulate matter/respiratory inorganics) การแผ่รังสีชนิดก่อไอออน (ionising radiation) การก่อโอโซนแบบโฟโตเคมี (photochemical ozone formation) การเกิดกรด (acidification) สภาวะเกินปกติของสารประกอบ (eutrophication) ในดินและน้ำ ความเป็นพิษต่อนิเวศ (ecotoxicity) การใช้ที่ดิน (land use) และการร่อยหรอของทรัพยากร (resource depletion) น้ำ แร่ธาตุ และเชื้อเพลิงฟอสซิล
ทั้งนี้ การนำคำว่าฟุตพรินต์ มาใช้กับเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) จะมีขอบเขตที่กว้างกว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากครอบคลุมในด้านสังคม และธรรมาภิบาลด้วย
โดยในแง่ของฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ หลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน คือ การประเมินวัฎจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assessment (LCA) ส่วนในแง่ของฟุตพรินต์องค์กร หลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน คือ การประเมินสายคุณค่า หรือ Value Chain Assessment (VCA) ซึ่งประกอบด้วยฝั่งต้นน้ำ (upstream) ที่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งมอบ กับฝั่งปลายน้ำ (downstream) ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค
ในปัจจุบัน องค์กรธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผู้ส่งมอบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ซึ่งเป็นการขยายบทบาทด้าน ESG ของกิจการ จากที่ทำได้สมบูรณ์แล้วภายในองค์กร ไปสู่คู่ค้าในสายอุปทานเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG ในทิศทางที่กิจการคาดหวัง
ในบรรดาบริษัทที่มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานความยั่งยืนตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI (Global Reporting Initiative) ได้มีการนำรายการข้อมูล GRI 308 (Supplier Environmental Assessment) และ GRI 414 (Supplier Social Assessment) มาใช้ในการแสดง ESG Footprint ของกิจการในสายอุปทาน โดยเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ ผ่านรายงานความยั่งยืนของกิจการ
โดยในรายการข้อมูล GRI 308 ประกอบด้วย Disclosure 308-1 จำนวนผู้ส่งมอบรายใหม่ที่ถูกคัดกรองโดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม แสดงตัวเลขเป็นร้อยละของผู้ส่งมอบทั้งหมด และ Disclosure 308-2 ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบในสายอุปทานและสิ่งที่ได้ดำเนินการ โดยแสดงข้อมูลใน 5 รายการย่อย ได้แก่ จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบที่มีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้นในสายอุปทาน ร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งตกลงที่จะปรับปรุงในผลการประเมิน และร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งถูกบอกเลิกความสัมพันธ์ในผลการประเมินพร้อมระบุเหตุผล
และในรายการข้อมูล GRI 414 ประกอบด้วย Disclosure 414-1 จำนวนผู้ส่งมอบรายใหม่ที่ถูกคัดกรองโดยใช้เกณฑ์ด้านสังคม แสดงตัวเลขเป็นร้อยละของผู้ส่งมอบทั้งหมด และ Disclosure 414-2 ผลกระทบสังคมทางลบในสายอุปทานและสิ่งที่ได้ดำเนินการ โดยแสดงข้อมูลใน 5 รายการย่อย ได้แก่ จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการประเมินผลกระทบสังคม จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสังคมทางลบอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบสังคมทางลบที่มีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้นในสายอุปทาน ร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสังคมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งตกลงที่จะปรับปรุงในผลการประเมิน และร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสังคมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งถูกบอกเลิกความสัมพันธ์ในผลการประเมินพร้อมระบุเหตุผล
นอกจากนี้ การแสดง ESG Footprint ของกิจการในสายอุปทาน ยังสามารถใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงาน (GRI 302) น้ำและน้ำทิ้ง (GRI 303) มลอากาศ (GRI 305) และเกณฑ์ด้านสังคม อาทิ การจ้างงาน (GRI 401) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (GRI 403) แรงงานเด็ก (GRI 408) แรงงานเกณฑ์และแรงงานบังคับ (GRI 409) มาใช้กับคู่ค้า เพื่อรับทราบสถานะความยั่งยืนในสายอุปทานตามประเด็น ESG ที่องค์กรได้ดำเนินการและที่ควรดำเนินการ (gap) ได้ด้วย
จากการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทยและกิจการอื่น ๆ จำนวน 854 ราย ในปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีกิจการที่เปิดเผยข้อมูลการประเมินผู้ส่งมอบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ร้อยละ 9.37 ของกิจการที่ได้สำรวจทั้งหมด และมีกิจการที่เปิดเผยข้อมูลการประเมินผู้ส่งมอบด้านสังคมอยู่ที่ร้อยละ 6.09 ของกิจการที่ได้สำรวจทั้งหมด
แสดงให้เห็นว่า กิจการที่ได้ทำการสำรวจซึ่งประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน 763 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 91 ราย รวมทั้งสิ้น 854 ราย ยังมิได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผู้ส่งมอบในประเด็นด้าน ESG อย่างทั่วถึง และเป็นโอกาสที่กิจการส่วนใหญ่สามารถขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเรื่อง ESG ให้กับคู่ค้าในสายอุปทานได้อีกมาก