กลไก GAP ไม่ซื้อสินค้าเกษตรก่อมลพิษ ลด PM2.5 - สร้างคาร์บอนเครดิต

กลไก GAP ไม่ซื้อสินค้าเกษตรก่อมลพิษ ลด PM2.5 - สร้างคาร์บอนเครดิต

ภาคการเกษตรมีบทบาททั้งเป็นผู้ผลิตอาหาร ขณะเดียวก็มีส่วนสำคัญต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และการแก้ปัญหาฝุ่นPM 2.5 จึงต้องร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในฐานะประธานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Climate Resilience Network: ASEAN-CRN) ได้ หารือกับกรมควบคุมมลพิษ ถึงการลดการเกิด PM 2.5 ในภาคการเกษตร และเสริมสร้างการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
กลไก GAP ไม่ซื้อสินค้าเกษตรก่อมลพิษ ลด PM2.5 - สร้างคาร์บอนเครดิต

 โดยเสนอใช้ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี  หรือ GAP [Good Agriculture Practices] ที่กรมฯ ประสบความสำเร็จ ในมาตรการ GAP Plus   และ GMP Plus  [GMP(Good Manufacturing Practice) หมายถึง หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร] ที่ใช้ควบคุมดูแลผลไม้ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ปลอดศัตรูพืช และปลอดเชื้อโควิด-19 และ มาตรการ GAP Monkey free Plus สกัดข้อกล่าวหาใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวป้องอุตสาหกรรมส่งออกมะพร้าวไทยไปต่างประเทศ

“มาตรการ GAP เป็นการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชตามเงื่อนไข 8 ด้าน และมีหัวใจสำคัญคือ ต้องมีการดำเนินกิจกรรมในแปลงที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการหารือ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เห็นด้วยกับแนวทางกรมวิชาการเกษตรที่จะแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยใช้หลักการของมาตรฐาน GAP ที่เข้มข้น”

ทั้งนี้ จากการหารือ เบื้องต้น กรมควบคุมมลพิษ และกรมวิชาการเกษตร มีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยมาตรการ GAP ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดังนั้นภาคเอกชน ที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ควรจะรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร จากเกษตรกรที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหา PM 2.5 จึงเสนอแนะให้การประชุมครั้งต่อไป จะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือ

สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตร ที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร และไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ มาตรการ“GAP Carbon Credit Plus และ GAP PM 2.5 Plus” ในอนาคตต่อไป

ในส่วนของ GAP Carbon Credit Plus กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)ทำบันทึกความเข้าใจ( MOU) ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: WB) และพัฒนางานวิจัยด้านคาร์บอนเครดิต รวมถึง การพัฒนาโครงการ Carbon credit baseline ภาคการเกษตร ระดับประเทศ พืชเศรษฐกิจสำคัญ 6 ชนิด อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง ในพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ การดำเนินงานและความพยายามนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกรมวิชาการเกษตร ในการพัฒนาทางด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน และ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรม

เงื่อนไขที่จะนำไปสู่GAP Carbon Credit Plusพื้นที่ปลูกต้องไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดชัน และสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ส่วนราชการกำหนด หากเป็นพื้นที่ทำการเกษตร และมีการดำเนินการกิจกรรมด้านการเกษตร ไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องมีการจัดทำประวัติการใช้ที่ดินย้อนหลังอย่างน้อย 2 ปี ต้องมีข้อมูลการใช้ปุ๋ย และ/หรือ สารปรับปรุงดินย้อนหลังในพื้นที่โครงการหรือข้อมูลอ้างอิงจากพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 3 ปี ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อและจดบันทึกข้อมูลปัจจัยการผลิต แหล่งที่มา และปุ๋ย ธาตุอาหารเสริม โดยใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมต่อพืชตามอัตราแนะนำ หรือตามผลค่าวิเคราะห์ดิน

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมฯ ติดตามเฝ้าระวังฝุ่นละออง PM 2.5 และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จำนวนจุดความร้อนหรือ Hot Spot จากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDAและร่องรอยการเผาแปลงหรือ Burn Scar ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ว่ามีจุดความร้อนเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถระบุเป็นรายแปลงได้ ทำให้ไม่สามารถชี้ได้ว่า แปลงดังกล่าวเป็นแปลงของเกษตรกรรายใด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดำเนินการจัดการในพื้นที่

การแก้ปัญหาและการป้องกันปัญหาควรดำเนินการควบคู่กันไป ขณะเดียวกันการลงโทษต่อผู้ก่อปัญหาก็สามารถดำเนินการได้แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการที่เหมาะสมแผนการใช้หลักการGAP Carbon Credit PlusและGAP PM 2.5 Plusจึงเป็นอีกความหวังในการก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในภาคการเกษตร

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์