ปลูกป่าชายเลน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องปลูก | ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน
หลายท่านคุ้นเคยกับ “ป่าชายเลน” และอาจเคยทำกิจกรรมเพื่อสังคมใน “โครงการปลูกป่าชายเลน” มาแล้ว ปัจจุบันกิจกรรมนี้อาจกลายเป็นเรื่องพื้นๆ ไม่หวือหวา ทำเสร็จได้ในวันเดียว
มีหน่วยงานช่วยดำเนินการเตรียมกล้าไม้และสถานที่ไว้ให้ เราเพียงแค่ลงไปปลูก ถ่ายรูปเพื่อประชาสัมพันธ์ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ เป็นอันเสร็จพิธี
แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ถ้าทุกอย่างง่ายขนาดนี้แล้วทำไมพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยถึงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เราปลูก
ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง คนส่วนใหญ่อาจจะเรียกว่า “ป่าโกงกาง” แต่ที่จริงในป่าชายเลนของไทยไม่ได้มีเฉพาะโกงกางเท่านั้น ยังมีพรรณไม้หลักชนิดอื่นที่พบได้แก่ ไม้ในสกุลแสมทั้งแสมขาว แสมทะเล และแสมดำ
นอกจากนี้ยังมีไม้ที่คุ้นเคยเช่น ลำพู ลำแพน ไม้พุ่มขนาดเล็กอย่างชะคราม หรือไม้หน้าดินอย่างผักเบี้ย
ป่าชายเลนสำคัญทั้งต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศ ผู้คน ชุมชน และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร ที่อาศัย ที่หลบภัย และแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด
ทั้งยังทำหน้าที่กำบังและลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดจากลมและกระแสน้ำ
การศึกษากรณีสึนามิที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ชี้ชัดว่าป่าชายเลนช่วยลดความรุนแรงของสึนามิลงได้
ป่าชายเลนยังมีความสำคัญทางด้านนิเวศวิทยา ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตธาตุอาหารให้กับระบบนิเวศที่อยู่ใกล้เคียง โดยเศษซากใบไม้ที่เกิดขึ้นในป่าชายเลน
เมื่อเกิดการย่อยสลายจะส่งผลต่อปริมาณธาตุอาหารในป่าชายเลนและสามารถเคลื่อนย้ายออกสู่ระบบนิเวศข้างเคียง เช่น แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
ลักษณะโครงสร้างของป่าชายเลนยังมีส่วนช่วยในการสะสมตัวของตะกอน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณชายฝั่งในหลายพื้นที่ของไทย ได้สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศของป่าชายเลน
เนื่องจากปริมาณตะกอนและสารอินทรี ย์ที่ถูกปล่อยออกมาจากแผ่นดินเกิดการสะสมตัวในพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงไมโครพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อป่าชายเลน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระดับความเค็มของน้ำ ที่มีผลลบต่อการแพร่กระจายของพืชด้วย
การย่อยสลายของสารอินทรีย์ที่สะสมตัวในป่าชายเลนในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ยังส่งผลให้เกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) หรือก๊าซไข่เน่า ที่เป็นพิษต่อพืชรวมไปถึงไม้ในป่าชายเลนด้วย
หลายท่านที่เคยไปเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลนจึงอาจจะเคยได้กลิ่นเหม็นของก๊าซไข่เน่ามาบ้าง ปริมาณของ H2S ส่งผลต่อการแพร่กระจายและการตายของไม้ในป่าชายเลน
ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนในธรรมชาติลดลง และยังส่งผลต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ (ป่าชายเลนคงสภาพ) 1.74 ล้านไร่ (ข้อมูลปี 2563) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
เนื่องจากการรณรงค์และประชาชนให้ความสนใจต่อกิจกรรมการปลูกป่าเพิ่มขึ้น แต่เราจะทำอย่างไรให้กิจกรรมการปลูกป่าชายเลนประสบความสำเร็จในการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้ตรงตามพื้นที่ที่เราปลูก
ประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อลดการสะสมตัวของตะกอนและสารอินทรีย์ภายในป่าชายเลน
ด้วยคุณสมบัติที่เป็นข้อดีของไม้ในป่าชายเลนที่ช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการตกตะกอนในบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง แต่ถ้ามีต้นไม้ในป่าชายเลนขึ้นอย่างหนาแน่น
ประกอบกับน้ำทิ้งจากชุมชนก็มีตะกอนและสารอินทรีย์เป็นจำนวนมาก จะทำให้การตกตะกอนเกิดขึ้นได้ในปริมาณมาก
การตกตะกอนกลับจะก่อให้เกิดผลเสียต่อไม้ในป่าชายเลน เนื่องจากความเป็นพิษของ H2S ทำให้โอกาสที่กล้าไม้จะมีชีวิตรอดจนเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ลดน้อยลงไปด้วย
การลดความหนาแน่นของต้นไม้และการเพิ่มการระบายน้ำในพื้นที่ป่าชายเลน จึงเป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดของกล้าไม้ที่เราปลูกได้
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการจัดการพื้นที่ชายฝั่งเพื่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนในธรรมชาติและการปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม เราสามารถดำเนินการได้
โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง หากดำเนินการได้เช่นนี้แล้ว การปลูกป่าชายเลนก็จะประสบความสำเร็จ
ไม่ใช่แต่เพียงตัวเลขพื้นที่ปลูก แต่ยังก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้อยู่คู่ทะเลไทยไปอีกนานเท่านาน.