Decarbonized Lifestyle วิถีชีวิตเพื่อลดคาร์บอน | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

Decarbonized Lifestyle วิถีชีวิตเพื่อลดคาร์บอน | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

รู้สึกเหมือนยุ้ยไหมว่า ปีนี้...อากาศร้อนขึ้นกว่าทุกปี ปีก่อนๆ เพียงรู้สึกว่าร้อนขึ้นบ้างนิดหน่อย เพราะอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียงครึ่ง หรือ 1 องศา แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เพิ่มสูงขึ้นหลายองศา

เราคงได้เห็นข้อมูลกันแล้วว่า บางวันดัชนีความร้อนที่บางเขตของ กทม. เช่น บางนา พุ่งสูงถึง 52 องศาเซลเซียส และเมืองชายทะเลในบางจังหวัดพุ่งถึง 54 องศาเซลเซียส

ดูจากในข่าว และคลิปในโซเชียลมีเดีย ได้เห็นว่าในบางประเทศ เช่น อินเดีย ร้อนจัดถึงขั้นพื้นถนนที่เป็นยางมะตอยละลาย คนเดินแล้วรองเท้าเหนียวติดอยู่ที่พื้นถนนเลยทีเดียว เห็นรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้กลางแดด มีชิ้นส่วนบางชิ้น

เช่น กระจกไฟท้ายที่ทำจากพลาสติกละลายจนไหลเยิ้ม หากวัดอุณหภูมิที่เบาะนั่งรถยนต์หรือจักรยานยนต์ พบว่าร้อนถึง 70 องศาเซลเซียส ส่วนในบางมณฑลของประเทศจีน แค่ตอกไข่ดิบทิ้งไว้กลางถนน ไข่ก็สุกเป็นไข่ดาวได้เลยทีเดียว มันน่ากลัวแล้วล่ะ

เราได้ยินเรื่องสภาวะโลกร้อน เรื่องปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจก เรื่องรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ฯลฯ กันมานานนับสิบปี แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรในวิถีชีวิต

เพราะยังไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ก็เป็นการรณรงค์ให้ทำเพื่ออนาคต ทำเพื่อลูกหลาน แต่วันนี้เราคงได้ตระหนักกันแล้วว่ามันเริ่มมีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรง

 ความร้อนจัดในปีนี้เป็นเสมือนนาฬิกาปลุก หรือสัญญาณอันตรายที่มาเตือนพวกเราให้ได้สติว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงมือปฏิบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา ให้เป็น “วิถีชีวิตเพื่อลดปริมาณคาร์บอน” (Decarbonized Lifestyle) กันอย่างจริงจัง

ภาครัฐ ต้องมีกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อออกมาควบคุมดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเร็วขึ้น ต้องสนับสนุนธุรกิจ และความก้าวหน้าของพลังงานสะอาดทั้งหลายอย่างจริงจัง และรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และอื่นๆ

ถึงแม้ว่าในวันนี้จะกล่าวได้ว่า มีการเดินมาครึ่งทางของการประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs : Sustainable Development Goals) จากสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2558 ที่มี 17 เป้าหมายที่จะบรรลุร่วมกันในปี 2579 ซึ่งประเทศไทยก็เดินหน้าไปได้ไม่น้อย

 

 

Decarbonized Lifestyle วิถีชีวิตเพื่อลดคาร์บอน | เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

เราได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกให้ความสนใจ และอยากเข้ามาลงทุนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพื่อที่เขาจะได้คะแนนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสูง แต่ดูเหมือนว่า เรายังจะต้องเร่งมือให้ไปได้เร็วกว่านี้ เพื่อให้ประเทศไทยได้เปรียบ และทิ้งห่างประเทศคู่แข่งให้ไกลยิ่งขึ้น

ภาคธุรกิจ องค์กรต่างๆ สามารถลงมือทำ และส่งผลที่จับต้องได้ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่มีโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งอย่าได้รีรอจนภาครัฐออกกฎหมายหรือข้อบังคับออกมา ไม่ต้องรอจนประชาคมโลกออกระเบียบที่เคร่งครัด

และอาจกลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เพียงเพราะไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ ถ้ามัวแต่ชักช้า และรีรออยู่จนถึงเวลาที่โดนกีดกัน จะปรับตัวไม่ทัน หรือต้องลงทุนสูงมากเพื่อปรับเปลี่ยนในระยะเวลาอันสั้น

ในความเป็นจริงแล้ว ยุ้ยคิดว่าพวกเราในฐานะผู้บริโภคสามารถช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างมีพลังมากที่สุด ทุกคนสามารถเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ร่วมกันลด ละ เลิก และลงมือทำ ในสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หรือเพิ่มปริมาณคาร์บอนเข้าสู่บรรยากาศ จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจก และสภาวะโลกร้อน 

ไม่ว่าจะเป็น การลดใช้พลาสติกและโฟม ละการใช้พลังงานสกปรก เช่น ละไฟฟ้าจากถ่านหิน หันมาใช้โซลาร์กันมากขึ้น ละรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพื่อการสันดาปภายใน หันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น เลิกอุดหนุนสินค้าจากผู้ผลิตที่ไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และลงมือทำหลายๆ เรื่องที่เคยผัดผ่อนกันไว้ เช่น การแยกขยะ การใช้วัสดุรีไซเคิล เป็นต้น

เรามาร่วมมือร่วมใจกัน แล้วก้าวเข้าสู่ “วิถีชีวิตเพื่อลดปริมาณคาร์บอน” (Decarbonized Lifestyle) ไปด้วยกันเถิด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์