6 ข้อเสนอ 'นโยบายสิ่งแวดล้อม' จาก 'กรีนพีซ' ถึงผู้นำคนใหม่

6 ข้อเสนอ 'นโยบายสิ่งแวดล้อม'  จาก 'กรีนพีซ' ถึงผู้นำคนใหม่

กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เผย 6 ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เลือกตั้ง 66 ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ชี้ เรื่องเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือ การผลักดันเรื่องของกฎหมาย ค่าไฟเป็นธรรม และเดินหน้าเศรษฐกิจควบคู่สิ่งแวดล้อม

Key Point : 

  • เรื่องของสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิต และสุขภาวะของประชาชนในประเทศ
  • กรีนพีซ ประเทศไทย รวบรวม 6 ข้อเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ต่อพรรคการเมือง ครอบคลุมทั้งความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ พลังงาน PM2.5 มลพิษพลาสติก มลพิษข้ามพรมแดน และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง 
  • ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลคือ การผลักดันเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ค่าไฟเป็นธรรม และเดินหน้าเศรษฐกิจควบคู่สิ่งแวดล้อม

 

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนในประเทศ ขณะที่พรรคการเมืองเป็นการรวมกลุ่มของผู้มีอุดมการณ์หรือแนวคิดในทางการเมืองร่วมกัน จึงเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการชี้แนะทิศทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมผ่านอุดมการณ์หรือแนวนโยบายของพรรค

 

เมื่อพรรคการเมืองได้จัดตั้งรัฐบาล อุดมการณ์ และแนวนโยบายดังกล่าวจะกลายเป็นทิศทางของประเทศ พรรคการเมืองจึงมีบทบาทในการกำหนดทางเลือก (Alternative) ให้กับสังคม 'ธารา บัวคำศรี' ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า กรีนพีซ ประเทศไทย มีแคมเปญ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 ดังนี้ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

1. ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) อยากเห็นรัฐบาลใหม่ทำหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ การเปิดพื้นที่ให้กับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชุมชนที่จะต่อกรกับสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นธรรม อีกทั้งมีจุดยืนชัดเจนในเวทีโลกเรื่องของเจรจาประเด็นสภาพภูมิอากาศต่างๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนความสูญเสีย และความเสียหายที่มีการเจรจาผลักดันอยู่ขณะนี้ เป็นต้น

 

2. การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) และประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าไปวางแผนทางพลังงาน เสนอให้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองลงในระดับมาตรฐานราว 15% ปลดระวางถ่านหิน ลดการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ที่ไม่จำเป็น พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และระบบกริดอัจฉริยะ รวมถึงผลักดันนโยบายให้ประชาชนสามารถส่งไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนที่ตนเองมีอยู่เข้าระบบสายส่งได้ การทบทวนวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า Power Development Plan และเปิดให้ประชาสังคมอยู่ในแผนพลังงาน เป็นต้น

 

3. มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (PM2.5) เสนอให้เกิดเครื่องมือทางกฎหมาย เพราะรากเหง้าของวิกฤติ PM2.5 มาจากการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับ ดังนั้น ระยะยาวต้องอาศัยเครื่องมือที่สำคัญ คือ กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.การรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ... หรือ PRTR เป็นต้น หรือกฎหมายอากาศสะอาด มาตรฐานการรายงานการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด เพราะปัจจุบันมาตรฐานของไทยเริ่มเข้มงวดขึ้น อยู่ที่ว่าแหล่งกำเนิดที่ปล่อยฝุ่นเหล่านี้ออกมาจะมีความเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน

 

 

4. มลพิษพลาสติก ปัญหาไม่ได้แค่ขยะพลาสติก แต่เป็นมลพิษพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นไมโครพลาสติก นาโนพลาสติก เหล่านี้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อาหาร และร่างกายมนุษย์ ข้อเสนอของกรีนพีซ ประเทศไทย คือ การผลักดันให้เกิดกฎหมายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนบนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) สนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก มุ่งจัดการวัฏจักรชีวิตของพลาสติกทั้งหมด ยุติอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ยกเลิกส่งเสริมธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

 

5. มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จะต้องมีนโยบายเพื่อให้เกิดกลไกทางสังคมในการตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ก่อให้เกิดฝุ่น มีการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพููชา และเวียดนาม ขณะที่ ระยะยาว จำเป็นต้องลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด อ้อย และนำการผลิตรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ กระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

 

และ 6. สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เป็นข้อเรียกร้องที่อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่ หยุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด และทำกระบวนการออกแบบยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งร่วมกับชุมชน ตามพื้นฐานศักยภาพของทรัพยากรหรือความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เป็นต้น

 

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่อยากจะให้รัฐบาลใหม่เร่งผลักดัน ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เผยว่า เป็นเรื่องของการผลักดันกฎหมายอย่าง กฎหมายอากาศสะอาด จะถูกผลักดันในลักษณะใด เพราะมีร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการของรัฐบาลอยู่แล้ว และกฎหมายอีกตัว คือ PRPR กฎหมายเรื่องของการรายงานข้อมูล และการเคลื่อนย้ายการปล่อยสารมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกรีนพีซ ได้ร่วมกับ 2 องค์กร คือ มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผลักดันเข้าไปในสภาช่วงปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ เรื่องพลังงาน ทำอย่างไรให้ค่าไฟมีความเป็นธรรม ผู้บริโภคมีภาระที่ไม่จำเป็นน้อยลง จะต้องทำกระบวนการคิดค่าไฟ การผลิตไฟฟ้า การวางแผนพลังงานโปร่งใส การทำประเด็นเร่งด่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องคู่ขนานไปกับการยกระดับเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไปพร้อมกันได้ เช่น กรณีของการเปิดให้มีกลไกการรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือน ชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าเองได้ จะสร้างเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลิตไฟฟ้า

 

“ผลที่ได้ คือ ยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาเศรษฐกิจขึ้นก่อนแล้วเอาสิ่งแวดล้อมตามหลัง เพราะสามารถทำไปพร้อมกันได้ นโยบายเศรษฐกิจที่ทำได้เลยในช่วง 100 วัน ควรเป็นผลประโยชน์ร่วมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย” ธารา กล่าวทิ้งท้าย

 

6 ข้อเสนอ \'นโยบายสิ่งแวดล้อม\'  จาก \'กรีนพีซ\' ถึงผู้นำคนใหม่

 

ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล และ เพื่อไทย

สำหรับ พรรคก้าวไกล ได้มีนโยบาย “สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า” เพื่อสื่อสารว่าปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” ผ่านนโยบาย “เชิงรุก” ครอบคลุมทั้งด้าน ด้านการผลิตไฟฟ้า เปิดตลาดเสรี ส่งเสริมไฟฟ้าสะอาดพลังงาน , ด้านการเกษตร ป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้ , ด้านอุตสาหกรรม จำกัดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม , ด้านการขนส่ง ปรับปรุงการขนส่งให้สะอาดที่สุด , ด้านขยะอาหาร Zero Food Waste กำจัดขยะอาหารเหลือทิ้ง และด้านพื้นที่สีเขียว ป่าแลกเงิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ขณะที่ นโยบาย “เชิงรับ” มุ่งช่วยประชาชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้ว

 

ด้าน พรรคเพื่อไทย มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มองเรื่องของปัญหาฝุ่นกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ต้องเร่งแก้ไขปัญหาทันที ทั้งการแก้ปัญหาในประเทศ และระหว่างประเทศ หัวใจของการปราบฝุ่น คือ การผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิ มนุษยชนขั้นพื้นฐาน สร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

รวมถึงวางโครงสร้างให้พร้อมต่อการรับมือ เน้นที่การเจรจาระหว่างประเทศตัดปัญหาที่ต้นตอ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการปัญหาฝุ่น บังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันยุติปัญหาฝุ่นทั้งในประเทศและข้าม พรมแดน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือเกษตร เก็บเกี่ยวและขุดกลบที่ไม่ต้องเผา เพื่อจัดการฝุ่นให้ถึงต้นตอ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์