"ไฮโดรเจน อีโคโนมี"เศรษฐกิจสะอาด ด้วยเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคต
ไฮโดรเจน” ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่มีความสะอาดมากสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิง ทั้งการขนส่ง การผลิตไฟฟ้า รวมเรียกได้ว่าเป็น “ไฮโดรเจน อีโคโนมี”
ที่เป็นความหวังต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อแทนที่พลังงานฟอสซิลให้ค่อย ๆ หายไป
ข้อมูลจาก Global Data รายงานว่า มีดีลเกี่ยวกับไฮโดรเจนกว่า 393 ดีลเกิดขึ้นในปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 277 ดีล ในปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาตลาดไฮโดรเจนเติบโตขึ้น คาดว่า กำลังการผลิตไฮโดรเจนทั่วโลก จะสูงถึง 4.5 ล้านตันต่อปี ภายในสิ้นปี 2566 โดยคิดเป็นการเติบโต 165% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเพิ่มเป็น 71 ล้านตันต่อปี ภายในปี2573
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจพลังงานไฮโดรเจนก่อน ข้อมูลจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุค“เศรษกิจไฮโดรเจน” ที่มีพลังงานทางเลือกใหม่ที่เรียกว่า “ไฮโดรเจน” เป็นตัวขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม แก๊สไฮโดรเจนไม่มีอยู่ในธรรมชาติที่สามารถเก็บเกี่ยวออกมาใช้ได้ทันที เหมือนพลังงานธรรมชาติอื่นๆที่คุ้นเคยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ หรือ ก๊าซธรรมชาติ
ดังนั้น หากจะใช้ไฮโดรเจน ต้องผ่านกระบวนการต่างๆและต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทำให้ราคาไฮโดรเจนปัจจุบันยังสูงมากไม่สามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ สำหรับเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนปริมาณมากมีหลายวิธี ปัจจุบันมีความพยายามนำแก๊สไฮโดรเจนเป็นพาหะพลังงาน (Energy carrier) เพื่อให้การใช้พลังงานไฮโดรเจนสะดวกที่จะเป็นการนำไปผลิตไฟฟ้าสำหรับสิ่งต่าง ๆ ทั้งการใช้ประจำที่ในบ้านเรือน สำนักงาน โรงงาน หรือ การใช้เคลื่อนที่ในยานพาหนะต่าง ๆ ซึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญคือเซลล์เชื้อเพลิง
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยก็มีการใช้พลังงานไฮโดรเจน โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ)ได้นำร่องให้ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง เป็นต้นแบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากกังหันลม และแปรสภาพมาเป็นการกักเก็บพลังงานในรูปของก๊าซไฮโดรเจน ที่นับว่าเป็นนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ (Fuel Cell)
นอกเหนือจากโรงงานไฟฟ้า แล้ว ประเทศไทยเองก็มีการทำโรงงานไฮโดรเจนและรถยนต์ไฮโดรเจน รวมถึงมีแผนการใช้เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน จากการที่กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศให้ได้ 20.3% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2565 จึงกำหนดให้มีการใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคคมนาคมขนส่งในปริมาณ 1 แสนกิโลกรัม ในปี 2560 เป็นต้นไป เพื่อ ทดแทนการนำเข้าน้ำมันและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่สะอาด และสามารถ ผลิตได้จากวัสดุตั้งต้นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซชีวภาพชีวมวล ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนยังมีความท้า ทาย ด้านต้นทุนที่มีราคาสูง และการเชื่อมต่อประสานงานกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับงานวิจัยและการนำไปประยุกต์ใช้ ดังนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนกรอบนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ ที่จะช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาและลงทุนเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน"
ด้านการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้มีทั้งทำเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์และเครื่องบิน ในด้านรถยนต์ในไทยอย่างโตโยต้าเดินหน้าศึกษาการนำไฮโดรเจนมาใช้ในรถยนต์หลักๆ 2 รูปแบบ คือ การใช้แทนน้ำมันสำหรับ ICE และใช้แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือ ที่เรียกว่า FuelCell ที่ทำงานโดยไม่ปล่อยมลพิษอีกด้วยและในด้านการบินบริษัทแอร์บัสได้พัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ๆที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการใช้พลังงานสะอาด ปล่อยคาร์บอนน้อยลง โดยเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดตอนนี้ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 25% ซึ่งเป้าหมายในอนาคตคือการไม่ปล่อยคาร์บอนเรย
ด้านการนำไปใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตเพื่อผลิตไฟฟ้า แบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและสารตั้งต้นที่นำมาผลิต ซึ่งไฮโดรเจนสีเขียวถือเป็นเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพสูง สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจาก การปล่อยมลพิษ
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับทิศทางนโยบายการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ประกอบด้วย ไฮโดรเจนสีเทา ระยะสั้น (2021-2030) กระบวนการเปลี่ยนรูปด้วยไอน้ำ วิจัยพัฒนา/นำร่องเทคโนโลยี
ไฮโดรเจนสีฟ้า ระยะกลาง (2031-2040) กระบวนการเปลี่ยนรูปด้วยไอน้ำ เริ่มใช้งานไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้า/ความร้อน ไฮโดรเจนสีฟ้า ระยะยาว (2041-2050) กระบวนการเปลี่ยนรูปด้วยไอน้ำ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีการผลิต/ใช้งานไฮโดรเจน ไฮโดรเจนสีเขียว 2051 กระบวนยกน้ำด้วยไฟฟ้า
"ไฮโดรเจนมีคุณสมบัติ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย มีความสะอาดสูงไม่เป็นพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงถูกคาดหมาย และยอมรับว่าจะเป็นแหล่งของพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญอย่างมากในอนาคต โดยประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ และ ญี่ปุ่น ได้มีการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง"