“เทคโนโลยี ดิจิทัล”หนุนคลังยั่งยืน รับสิ่งท้าทายใหม่ด้านสาธารณสุข

“เทคโนโลยี ดิจิทัล”หนุนคลังยั่งยืน  รับสิ่งท้าทายใหม่ด้านสาธารณสุข

รายจ่ายด้านสุขภาพหรือสาธารณสุขคือ การจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเพื่อดูแลประชาชนทั้งในมิติการดูแลรักษาพยาบาล และมิติการส่งเสริมสุขภาพเพื่อสร้างผลิตภาพให้ระบบเศรษฐกิจกลับคืนมา

ข้อมูลจาก“รายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายของประเทศไทย”จัดทำโดย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่าแม้ว่าสาธารณสุขของไทยจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ได้ โดยได้รับแรงสนับสนุน จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบบริการปฐมภูมิ 

แม้ว่าการจัดสรรงบประมาณจะให้ ความสำคัญกับด้านสาธารณสุข แต่สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐในด้านดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับ มาตรฐานสากล อยู่ที่ 311 ดอลลาร์ต่อคน หรือคิดเป็น 4.0% ของ GDP ในปี พ.ศ.2562 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ผู้รับบริการต้องจ่ายก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

ความสำเร็จของไทยพิสูจน์ได้จาก อายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 72 ปี ในปี พ.ศ.2562 โดยเพิ่มขึ้นจาก 70.6 ปี ในปี พ.ศ.2543 และในช่วงเวลาเดียวกันอัตราการ เสียชีวิตของทารกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และอัตราการเสียชีวิตของมารดาได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปแล้ว ตัวชี้วัด ทางสุขภาพที่สำคัญของประชากรไทยดีกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง 

“ประชากรเกือบทั้งประเทศได้รับความคุ้มครองจากหนึ่งในสามรูปแบบของระบบประกันสุขภาพ ที่ให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการอนามัยแม่และเด็ก และโรคติดเชื้อ และบุคลากรด้านสาธารณสุขไทยก็มีหลายทักษะที่เป็นที่ต้องการ”

โรนัลด์ อาเปนยู มูตาซา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า การประเมินด้านสาธารณสุขของไทยโดยใช้ข้อมูลจากเวิลด์แบงก์ และองค์การอนามัยโลก(WHO) และประเมินสังคมผู้สูงอายุของไทยที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2050 เพื่อดูความต้องการใช้จ่ายในภาคสาธารณสุข

“เทคโนโลยี ดิจิทัล”หนุนคลังยั่งยืน  รับสิ่งท้าทายใหม่ด้านสาธารณสุข “การใช้จ่ายในภาคสาธารณสุขของไทยยังต่ำ แต่การใช้จ่ายด้านนี้ของไทยมีความโดดเด่นกว่าประเทศใกล้เคียง และประเทศที่มีรายได้สูง เนื่องจากไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี และพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้น จนทำให้ประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขไทยดีกว่าประเทศรายได้ปานกลาง”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมี 3 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องไม่ลืมความสำเร็จที่เคยทำได้ ได้แก่ การรับมือสังคมสูงวัย การรับมือกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การมีเทคโนโลยีทางการรักษาใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ด้านสังคมสูงวัยพบว่า ตั้งแต่ปี 2020-2050 สัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 จะเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 35% อย่างไรก็ตาม สังคมสูงวัยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เพิ่มภาระให้สาธารณสุข แต่การเพิ่มขึ้นของโรค NCDs เพิ่มค่าใช้จ่ายสาธารณสุขมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลถัดไปต้องใส่ใจ

ทั้งนี้ โรค NCDs เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบมากที่สุด และการตรวจพบโรคความดันโลหิตสูงไปจนถึงการรักษา และควบคุมโรคยังคงทำได้น้อย หมายความว่า คนวัยทำงานอาจประสบภาวะทุพพลภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลิตภาพ และเพิ่มภาระทางการคลังได้

ในขณะที่ระบบประกันสุขภาพไทยมีบริการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่งานวิจัยที่ก้าวหน้าจะสร้างแรงกดดันในการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพัฒนายาและการรักษาใหม่ๆ ให้มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเช่นกันธนาคารโลกคาดว่าภายในปี 2050 ประเทศไทยจะมีรายจ่ายสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจากความกดดันทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า รัฐบาลควรให้ความรู้ด้านสุขภาพกับประชาชน ปรับปรุงการเงินในระบบสาธารณสุขที่กระจัดกระจาย และจัดให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศที่ดี สามารถดูแลผู้ป่วยในระยะยาวและให้บุคลากรการแพทย์ติดตามอาการผู้ป่วยในระยะยาวได้ เช่น การติดตามรักษาโรค NCDs ที่ต้องดูแลในระยะยาว

ขณะที่ระบบประกันสุขภาพไทยยังมีการทำงานทับซ้อนกัน ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายสาธารณสุขสูงขึ้น เช่น การเบิกจ่ายค่ารักษาต่างๆ ธนาคารโลกจึงแนะนำว่า ไทยควรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อปฏิรูปสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งไทยทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ต้องอาศัยผู้นำและหน่วยงานต่างๆ ให้หันมาใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยควรมีระบบสารสนเทศสุขภาพกลาง หรือเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าถึงกันได้ง่าย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ระบบสาธารณสุขและประเทศ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์