วางทุ่นชะลอความเร็วเรือ 'บ้านเกาะมุก' จ.ตรัง อนุรักษ์ ปกป้องพะยูน
กรมอุทยานฯ สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน เปิดพื้นที่คุ้มครองพะยูน วางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ จัดระเบียบของเรือ บริเวณบ้านเกาะมุก จำนวน 18 ทุ่น ความยาวตลอดแนวทุ่น 4.8 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หญ้าทะเล 1,787 ไร่ ลดผลกระทบต่อพะยูนและแหล่งหากินของพะยูน
วันที่ 18 มิถุนายน 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินทางไปเป็นประธานในกิจกรรมวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ เพื่ออนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ร่วมกับนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 มูลนิธิอันดามัน สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ผู้นำชุมชน และ ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริเวณบ้านเกาะมุก หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รับท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น ล่องเรือชมพะยูน-พายเรือคายัคเข้าถ้ำชมหินย้อย
- เศษอวน กระเบนราหู กับ ความตายอันเงียบเชียบใต้มหาสมุทร จากขยะทะเล
- 17 ส.ค. "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" จาก "มาเรียม" ถึง "ภาระดอน" ภารกิจสุดหิน!
นายอรรถพลฯ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อตระหนักถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวบริเวณเกาะมุกที่ส่งผลกระทบต่อพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล จากเรือนำเที่ยวของผู้ประกอบการ เรือประมง เรือของชาวบ้านในพื้นที่เกาะมุก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ปกป้องพะยูนและแหล่งหากินของพะยูน โดยการควบคุมการเข้าออกและจัดระเบียบของเรือ บริเวณบ้านเกาะมุก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของพะยูนในธรรมชาติ โดยการวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ จำนวน 18 ทุ่น ความยาวตลอดแนวทุ่น 4.8 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หญ้าทะเล 1,787 ไร่
สำหรับ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ทางฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วยป่าชายเลน หญ้าทะเล เกาะแก่ง มีหาดทรายขาวนวลเรียงรายไปตามผืนดินกว่า 20 กิโลเมตร และสนทะเลตามธรรมชาติอันสวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น เกาะกระดาน โดยในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะใช้เป็นสถานที่จดทะเบียนสมรสใต้น้ำ สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ฯลฯ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ถือเป็นแหล่งพะยูน สัตว์ป่าสงวนที่สำคัญ ของประเทศไทยซึ่งต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้