‘ภาวะโลกร้อน’ หนึ่งในตัวการทำ ‘เครื่องบินตกหลุมอากาศ’ มากขึ้นในรอบหลายปี ?
อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “ภาวะโลกร้อน” ก็คือ เครื่องบินตกหลุมอากาศบ่อยขึ้นกว่าเดิม และไม่ใช่แค่ผลกระทบด้านความปลอดภัยทางอากาศเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงอุตสาหกรรมการบินและสิ่งแวดล้อม
Key Points:
- การเดินทางด้วยเครื่องบินได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยมากที่สุด แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหา “เครื่องบินตกหลุมอากาศ” มากขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
- ภาวะ “โลกร้อน” ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญ ที่ทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น เพราะยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไร สภาพอาการก็ยิ่งแปรปรวนมากขึ้นเท่านั้น
- ไม่ใช่แค่การตกหลุมอากาศเท่านั้น แต่ปัญหา “สภาพอากาศแปรปรวน” ที่เกิดบ่อยขึ้นดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงการอุตสาหกรรมการบินในภาพรวม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน “ภาวะโลกร้อน” ส่งผลเสียต่อทุกชีวิตบนโลกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่รู้หรือไม่ว่าอีกหนึ่งปัญหาซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน ก็คือเครื่องบินตกหลุมอากาศ (Flight turbulence) ที่เกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเส้นทางการบินที่มีการจราจรทางอากาศที่คับคั่ง
BBC รายงานถึงการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters ซึ่งระบุว่า ตั้งแต่ปี 1979-2020 พบ “เครื่องบินตกหลุมอากาศ” อย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 55 ระหว่างเส้นทางการบินสหรัฐ และแอตแลนติกเหนือ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราความเร็วลมในระดับความสูงที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอากาศที่ร้อนขึ้นจากการปล่อยก๊าซ “คาร์บอนไดออกไซด์” ของเครื่องบินที่สัญจรผ่านไปมา ทั้งนี้ตลอดเวลาการเก็บข้อมูลทำวิจัยดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยิ่งสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร ก็จะมีความปั่นป่วนในของมวลอากาศมากขึ้นเท่านั้น
- “เครื่องบินตกหลุมอากาศ” ปัญหาใหญ่ด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร
หากการเดินทางด้วยเครื่องบินของคุณในวันนั้นต้องพบเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่น มีเมฆมาก เกิดพายุฝนตกหนัก หรือ มีลูกเห็บตก อาจต้องเตรียมใจไว้เลยว่าคุณจะเจอกับ “หลุมอากาศ” ระหว่างเดินทางได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คาดเดาได้ทั้งหมด เพราะแม้แต่ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส และปลอดโปร่ง ก็สามารถพบเจอกับหลุมอากาศได้เช่นเดียวกัน เผลอๆ ใครหลายคนอาจไม่ได้เตรียมใจไว้ และไม่ทันระวังตัวจนเกิดอาการเวียนหัวหรือบาดเจ็บได้
โดยปกติแล้วเวลาเครื่องบินแล่นจากพื้นเพื่อขึ้นไปบินอยู่บนอากาศนั้น ต้องอาศัยแรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกเครื่องบิน ซึ่งมวลอากาศดังกล่าวจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่ไปอย่างสม่ำเสมอพร้อมกัน แต่ถ้าเครื่องบินต้องบินผ่านบริเวณที่มีความหนาแน่นของอากาศแตกต่างกันมาก เช่น จากความหนาแน่นอากาศมากไปหาความหนาแน่นอากาศน้อย จะส่งผลให้อากาศบริเวณดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลื่น และทำให้เกิดแรงยกแบบผิดปกติตามมา
ส่งผลให้เครื่องบินสั่นในระดับเล็กน้อย ไปจนถึงสั่นระดับรุนแรง และยิ่งถ้าอากาศบริเวณนั้นมีความเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกคล้ายกับว่าเครื่องบินร่วงหล่นลงมาด้วยความเร็วสูง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “เครื่องบินตกหลุมอากาศ” และบางครั้งเราก็ไม่สามารถสังเกตความแปรปรวนของสภาพอากาศได้ด้วยตาเปล่า
แม้ว่าการตกหลุมอากาศส่วนมากจะไม่ได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดความวุ่นวายบนเครื่องได้พอสมควร เพราะสิ่งของต่างๆ บนเครื่องอาจตกลงมา และกระจัดกระจาย รวมถึงผู้โดยสารบางคนที่ขณะนั้นไม่ได้นั่งอยู่กับที่ หรือไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ก็อาจได้รับบาดเจ็บจากแรงกระแทกได้ ดังนั้นหากไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ลูกเรือจึงแนะนำให้ผู้โดยสารทุกคนนั่งอยู่กับที่นั่ง และคาดเข็มขัดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
- โลกร้อน เกี่ยวข้องกับการตกหลุมอากาศของเครื่องบินอย่างไร
รู้หรือไม่? ปัญหาโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ส่งผลเสียต่อการเดินทางด้วยเครื่องบินมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางบินที่มีเครื่องบินสัญจรหนาแน่นมากกว่าที่อื่น อ้างอิงจากผลการศึกษาข้างต้นจะพบว่า เส้นทางการบินที่เครื่องบินตกหลุมอากาศเพิ่มมากขึ้นที่สุด คือ เที่ยวบินในสหรัฐ และแอตแลนติกเหนือ ตามมาด้วย เส้นการบินแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้
ทั้งนี้ ความปั่นป่วนของสภาพอากาศที่เพิ่มมากขึ้น (และดูเหมือนไม่มีท่าทีจะสงบลงได้ในเร็วๆ นี้) มีสาเหตุมาจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างเส้นศูนย์สูตรและขั้วโลก ทำให้เกิด “แรงเฉือนของลม” ที่มากขึ้น หรือความแตกต่างของความเร็วลมในกระแสลมกรด หรือ Jet Stream เป็นกระแสลมที่มีความแรงสูง พัดจากตะวันตกไปตะวันออกในระดับความสูงประมาณ 5-7 ไมล์ เหนือพื้นผิวโลก
สำหรับความปั่นป่วนของสภาพอากาศนั้น แม้ว่าจะมองไม่เห็นได้ด้วยดาวเทียม แต่ก็สามารถมองเห็นโครงสร้างและรูปร่างของกระแสลมกรดได้ ทำให้นำไปวิเคราะห์สภาพอากาศต่อไปได้ และในส่วนของเรดาร์นั้นก็สามารถตรวจจับความปั่นป่วนจากพายุได้เช่นกัน แต่ถ้าความปั่นป่วนนั้นเกิดขึ้นในวันที่อากาศแจ่มใสเป็นปกติ ก็แทบจะมองไม่เห็นเลย รวมถึงยังเป็นเรื่องยากต่อการตรวจจับ
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ปัจจุบันพบเหตุการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นอีกในอนาคต และจากหลักฐานของงานวิจัยก็เป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่า การก่อตัวของปัญหาดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นมาได้พักใหญ่แล้ว
- หลุมอากาศ อุตสาหกรรมการบิน และสิ่งแวดล้อม
หากมองเพียงผิวเผินเรื่องของ “เครื่องบินตกหลุมอากาศ” อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับ “อุตสาหกรรมการบิน” เท่าไรนัก แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก เนื่องจากความปั่นป่วนของสภาพอากาศในบางครั้งก็ไม่สามารถมองเห็นได้ผ่านดาวเทียม ดังนั้นการลงทุนในระบบพยากรณ์อากาศ และตรวจจับสภาพอากาศปั่นป่วน จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ปัญหาเครื่องบินตกหลุมอากาศยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอีกด้วย เพราะภายในหนึ่งปีอุตสาหกรรมการบินในสหรัฐ ต้องสูญเสียเงินไปประมาณ 150-500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.1-17.2 พันล้านบาท เพราะผลกระทบที่มาจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง ส่งผลให้เครื่องบินเกิดการสึกหรอและต้องเข้ารับการซ่อมแซมบ่อยขึ้น
รวมถึงสร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เนื่องจากนักบินจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิง(น้ำมัน) เพิ่มมากขึ้นเพื่อบินหลบหลุมอากาศ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
สุดท้ายแล้วแม้ว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินจะได้รับการยอมรับว่าเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่ถ้ายังปล่อยให้ปัญหาโลกร้อนลุกลามเป็นวงกว้าง และส่งผลให้เครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตการเดินทางด้วยเครื่องบินอาจกลายเป็นเรื่องอันตรายก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูล : BBC, Spacebar และ Wordpress
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์