“โลกร้อน”ฉุดจีดีพีไทย “เวิลด์แบงก์” ห่วง "แล้ง" ทำอีอีซีสิ้นเสน่ห์ดึงทุน
ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นนับเป็นความรุนแรงที่สร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับประเทศไทย อัตราการเติบโตที่น่าสนใจ คาดว่าปี 2567 จะเติบโต3.4-3.6 % โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
ประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทาย ของภาวะโลกร้อน ประชากรสูงอายุ แรงกดดันการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ความถี่ของภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
ฟาบริซิโอ ซาร์โกเน่ ผู้จัดการ ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ เปิดเผยถึง"รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย" จัดทำโดย ธนาคารโลก ประจำเดือนมิ.ย.2566 ในหัวข้อ "การรับมือกับภัยแล้ง และอุทกภัย"- เพื่อสร้างอนาคตที่อยู่รอดและยั่งยืน" ว่า
“รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการน้ำ ซึ่งดัชนีความรุนแรงน้ำท่วมของไทย อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกคือ มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกับปี 2554 ที่ต้องใช้งบประมาณแก้ไขปัญหามากกว่า 10% ของ GDP ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือเพื่อนำพาทุกภาคส่วนผ่านพ้นปัญหานี้ไปด้วยกัน”
เชลลีย์ แมคมิลแลน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการธนาคารโลก กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม มีแนวโน้มความรุนแรง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความถี่มากขึ้น สร้างความเสียหาย ทำให้ จีดีพีโลก ถดถอยหายไปเฉลี่ย 3.7% ต่อปี มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่คิดเป็น 50% ของจีดีพีของประเทศ มีพื้นที่ต่ำกว่าทะเล จึงเสี่ยงมากที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จึงต้องปกป้องพื้นที่เหล่านี้ไม่ให้เสียหาย โดยในปีที่ผ่านมา ไทยยังมีปัญหาน้ำท่วมอยู่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในแก้ไขปัญหา สถานการณ์นี้ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็นศูนย์กลางของที่ศักยภาพของเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นจึงต้องมีแผนป้องกันที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
สำหรับประเทศไทยมีหน่วยงานด้านน้ำมากถึง 40 หน่วยงานภายใต้ 4 เสาหลัก คือ1. ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำปี 2561ถือว่าเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของไทย ควบคุมการบริหารจัดการ 22 ลุ่มน้ำ มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ และระดับลุ่มน้ำ การกำหนดการใช้น้ำของประเทศไทย ตามลำดับความสำคัญ เพราะกิจการ การใช้น้ำแต่ละประเภท ในแต่ละลุ่มน้ำซึ่งมีบริบทไม่เหมือนกัน 2.แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี 3.พิจารณาด้านอุทกภัย และน้ำท่วม 4.นวัตกรรมและเทคโนโลยี
แอนโทนี่ เอ็ม วาตานาเบะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ก็จะทำต่อเนื่องในด้านการเก็บน้ำ และน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งในเมือง และชนบทที่มีพื้นที่ต่ำกว่าทะเล ใต้เส้นทางน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาอินโดรามา ได้ทำพันธกิจกับองค์กรสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของธนาคารโลกด้วยเช่นกัน เพื่อปล่อยสินเชื่อ และลดผลกระทบทางน้ำ
สำหรับไทยในภาพรวมในเรื่องความเสี่ยงของน้ำอยู่ที่ตำแหน่งที่ 45 จาก 141 ประเทศ ดังนั้นจึงต้องการเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการใช้น้ำ ทางอินโดรามาได้ทำโครงการสเกลแบนที่โรงงานในระยองสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 50%
บุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวว่า ปีนี้ไทยได้เข้าสู่ภาวะเอลนีโญแล้ว และจะคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 แผนต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงปรากฏการณ์นี้รวมไว้ด้วย โดยการทำงานระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอนาคต
ชูชาติ สายทิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะวอเตอร์ จำกัด และคณะกรรมการน้ำ และสถาบันสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาคตะวันออกมีการใช้น้ำเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ จากปีละ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 5,700 ล้านลบ.ม. ปี 2570 และแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน พบว่ามีน้ำหายไปจากอ่างเฉลี่ย 7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในปีนี้ ช่วงเดือนม.ค. หายไป 10.6 ล้านต่อวัน ดังนั้นความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำจะมีมากขึ้น
“ภาคอุตสาหกรรมจะต้องรับภาระในการลดกำลังการผลิต หรือหาทางปรับแผนการผลิต เพราะปริมาณการส่งน้ำมีน้อยลง ดังนั้นภาคเอกชนจึงสร้างแหล่งน้ำขึ้นมาเอง รีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ และประหยัดน้ำ”
การสร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำต้องขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วนเพราะมีงานให้ทำตั้งแต่ การพัฒนาแหล่งน้ำจากผิวดินใต้ดิน การทำน้ำจืดจากน้ำทะเล การรีไซเคิลน้ำ และการสร้างโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำ การทำให้อากาศไม่เปลี่ยนแปลงรุนแรงด้วยการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะทุกสิ่งที่เผชิญในตอนนี้คือ ผลจากมือมนุษย์ในอดีต และทุกสิ่งที่จะเผชิญในอนาคตคือ ผลจากน้ำมีมนุษย์ในวันนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์