ธนาคารน้ำใต้ดินหลุมขนมครก วิธีกักน้ำช่วงแล้งและน้ำท่วม วัดป่าแสงศรีธรรม
อีกตัวอย่างการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมด้วยการทำธนาคารน้ำใต้ดิน แต่ทำมากกว่านั้นมีการเก็บกักน้ำด้วยหลุมขนมครก ที่วัดป่าแสงศรีธรรม จ.อุบลราชธานี
ธนาคารน้ำใต้ดินแบบหลุมขนมครก โคกอีโด่ยวัลเล่ย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา วัดป่าศรีแสงธรรม ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาพื้นที่
รวมทั้งนำพลังงานทดแทนในรูปแบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบ Internet of Things ( IOT) ซึ่งเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการดำเนินโครงการทั้งระบบ ขยายผลไปสู่ชุมชนด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่
ธนาคารน้ำใต้ดินทำขึ้นเพื่อรับมือภัยแล้ง และน้ำท่วม จากความแปรปรวนของอากาศที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรง ในขณะที่ซีกโลกหนึ่งเกิดภัยแล้ง แต่อีกซีกโลกกำลังเกิดน้ำท่วม หรือบางทีก็กลับกัน บ้านเราเกิดน้ำท่วม อีกซีกโลกเกิดภัยแล้ง
ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาและชาวประมง ซึ่งความแตกต่างสุดขั้วนี้ใช่ว่าจะไม่มีที่มา
เอลนีโญ และ ลานีญา
ปรากฏการณ์ที่กล่าวมาตอนต้น หลายคนคงคุ้นชื่ออยู่บ้างทั้ง เอลนีโญ และ ลานีญา แต่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างของทั้ง 2 ปรากฏาการณ์
เอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออก อุ่นขึ้นผิดปกติ เกิดจากลมสินค้า ซึ่งเป็นลมประจำปีหรือลมประจำภูมิภาค มีกำลังอ่อนกว่าปกติ น้ำทะเลที่อุ่นจึงถูกพัดไปทางชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกน้อยลง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็ไหลย้อนกลับพัดเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดเมฆฝนรุนแรง
จะเห็นได้ว่า พื้นที่ฝนตกชุกหรือเกิดอุทกภัยบ่อย ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งเฉียบพลัน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศก็สูงขึ้นกว่าปกติ ปริมาณสัตว์น้ำก็ลดลง บางชนิดถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ ชาวประมงจึงจับสัตว์น้ำไม่ได้
ส่วนปรากฏการณ์ ลานีญา เป็นปรากฏการณ์คนละขั้วกับเอลนีโญ เพราะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกเย็นลงผิดปกติ เกิดจากลมสินค้ามีกำลังแรงกว่าปกติ
น้ำทะเลที่อุ่นจึงถูกพัดไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำของฝั่งตะวันตกที่สูงกว่าฝั่งตะวันออกอยู่แล้วยิ่งสูงกว่าเดิม ส่งผลให้ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดเมฆฝนรุนแรง
ส่วนด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมีความแห้งแล้งกว่าปกติ พื้นที่แห้งแล้ง ต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนัก จนเกิดภาวะน้ำท่วมอุณหภูมิของอากาศต่ำกว่าปกติในทุกฤดู
ทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้ มักจะเกิดสลับกัน เมื่อเกิดเอลนีโญ แล้วจะเกิดลานีญา ตามมา โดยเอลนีโญจะเกิดขึ้นเฉลี่ย 5-6 ปีต่อครั้ง แต่ละครั้งกินเวลานานราว 12-18 เดือน ส่วนลานีญาจะเกิดขึ้นได้ทุก 2- 3 ปี แต่ละครั้งกินเวลานานราว 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจอยู่นานถึง 2 ปี
สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เอลนีโญ ทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และเกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในทางกลับกัน ลานีญา ทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งเอลนีโญและลานีญาเกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้
ธนาคารน้ำใต้ดินกับปัญหาภัยแล้ง
ความแปรปรวนอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ธนาคารน้ำใต้ดินที่เรียงติดกันไปเหมือนหลุมขนมครกในป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างของวัดป่าศรีแสงธรรม ทำมาเพื่อรองรับมือกับภัยแล้ง และน้ำท่วม ด้วยการเก็บน้ำฝนที่ไหลมาลงดิน เหมือนมีโอ่งเก็บน้ำไม่ให้ไหลไปที่อื่น
เมื่อใดที่ฝนทิ้งช่วง น้ำที่อื่นจะแห้งเร็ว รอฟ้าฝนอย่างเดียว แต่หลุมขนมครกของเรามีความชื้นในดินมาก ไม่ทำให้ดินแตกระแหง และยังมีหนองรับน้ำจำนวนมากสำรองไว้ในกรณีต้องสูบน้ำขึ้นมาใช้ ซึ่งมีหลายหนอง ตามแนวทางพระราชดำริ
หนองเล็กซ้อนหนองใหญ่ คือการประยุกต์แนวทางเขื่อนเล็กซ้อนเขื่อนใหญ่มาใช้ในแปลงโคกอีโด่ยของเรา ที่นี่จึงเป็นการเขียนศาสตร์พระราชาลงบนตำราของแผ่นดิน
หนองเล็ก ซ้อนหนองใหญ่
เป็นแนวทางการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง จากธรรมชาติที่ให้มาไม่ตรงกับความอยากของคน
การใช้ภูมิปัญญากับงานวิชาการ จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำแบบหนองเล็ก ซ้อนหนองใหญ่ ใช้ธนาคารน้ำใต้ดินแบบหลุมขนมครกซ้อนหนองเล็ก ในพื้นที่โพนผักหวานป่า 100 ต้น โพนโกโก้แก้จน150 ต้น มาเป็นอะโวคาโด้เพิ่มอีก 3 ไร่ และโพนป่าพยุง 300 ต้น และโพนยางนาอีก 450 ต้น ซึ่งเป็นแนวทางตามพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
การทำโพนหรือเนินดิน โดยการใช้ขอนไม้เศษไม้รองพื้น ขี้วัว 1 กระสอบเททับไว้รดด้วย พด.1 เพื่อเร่งจุลินทรีย์ให้ทำงานสัก 14 วัน ระหว่างนี้หากมีฝนตกก็จะเป็นการกักความชื้นพร้อมค่อย ๆ ย่อยสลายเศษไม้ ใบไม้ให้กลายเป็นปุ๋ยไปเรื่อย ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องดินขาดความอุดมสมบูรณ์ของโคกอีโด่ยแห่งนี้
การทำเป็นกองดินสูงทับเศษไม้ไว้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินด้านล่าง ต้นไม้ใหญ่ไม่ค่อยมีรากแล้วหยั่งลงไปได้ 1-1.5 เมตรก็เจอดินดาน ต้นไม้ที่โตมักจะหงิกงอและแตกพุ่ม ถ้าเรายกกองดินให้สองประมาณ 2 เมตร ก็จะปลูกอะไรได้หลายอย่าง
จัดการพื้นที่ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน
จากนั้นจึงปลูกพืชผักสวนครัวหรือสมุนไพรอื่น ๆ ผสมผสานกันเพื่อการจัดพื้นที่ทำให้ทุกสิ่งเกิดประโยชน์สูงสุดโดยมี
- 1. ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาที่ง่ายสุดคือ กล้วยช่วยบังแสงที่มาช่วงบ่ายทางทิศใต้/ตะวันตกเฉียงใต้
- 2. ต้นไม้เป้าหมายคือผักหวานป่า และอะโวคาโดที่ให้ผลผลิตทุกวัน ถ้ารดน้ำ แต่ต้องใช้เวลาปีสองปีกว่าจะโตได้
- 3. ต้นไม้ที่มีอายุสั้นปานกลาง เช่น มะละกอ
- 4. ต้นไม้ที่โตในช่วงหน้าหนาว และสมุนไพร เช่น มะเขือ พริก
- 5.พืชผักคลุมดิน เพื่อช่วยเพิ่มสารอาหารให้กับพื้นดิน
- 6. พืชหัว เห็ด หรือสิ่งอะไรที่เกี่ยวข้องกับดิน ซึ่งที่นี่ใช้ดอกกระเจียวหวาน เพราะเป็นอาหารเก็บได้เรื่อย ๆ ถ้ามีการให้น้ำ แถมราคาสูงด้วยหรือการให้แมลงต่าง ๆ ที่ช่วยพรวนดินมาอาศัยอยู่ด้วย เช่น มันแกว นี่ก็เป็นสมุนไพรอย่างดี
- 7.ไม้เลื้อย หรือถั่วฝักยาว
- 8 . ไม้มรดกหรือไม้เศรษฐกิจมูลค่าสูงเช่นพยุง ยางนา ประดู่
หลายประเทศในโลกกำลังให้ความสำคัญกับ SDGs ที่ถือว่าความมั่นคงของโลกที่ UN ประกาศออกมา ดูแล้วเขาก็ปรับมาจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พร้อมรับปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
..............
เขียนโดย : พระปัญญาวชิรโมลี
อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม