“ท่องเที่ยวยั่งยืน” กับแอปฯ ZERO CARBON คืนคุณค่าด้วยการคำนวนคาร์บอน
การท่องเที่ยวของโลกกำลังมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของประเทศไทยที่ต้องการเป็น Carbon Neutral Tourism Destination นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผ่าน“แอปพลิเคชั่น”ด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่
สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เล่าถึง แอปพลิเคชั่น “ZERO CARBON” ยกระดับท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ว่า สามารถทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถคำนวณการปล่อยคาร์บอนของตนเอง สามารถใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวและกิจกรรมของอุตสาหกรรมบางส่วนจะทำให้ประเทศไทยมุ่งหน้าไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง
จากเป้าหมายการสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อวัดระดับคาร์บอนในการท่องเที่ยวเพื่อเป้าหมายเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มีการกำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนแล้วในด้านการใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้ก็มีความน่าสนใจเพราะคาร์บอนเครดิตจะสามารถเป็นแหล่งรายได้อีกทางจากการท่องเที่ยวปกติ
ภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ กล่าวว่าการใช้แอปพลิเคชั่นในอนาคตจะสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีการระบุผู้ซื้อขายได้อย่างชัดเจน สามารถจ่ายค่าคาร์บอนเครดิตผ่านมือถือรวมถึงธนาคารต่างๆได้อีกด้วย ทำให้ผู้ที่ขายคาร์บอนเครดิตมีรายได้เพิ่ม อย่างภาคชุมชนที่ได้รับความสนใจมาก
"ตัวอย่าง ฟาร์มหมู รวมถึงผู้ประกอบการไทยในภาคการท่องเที่ยวสามารถคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบริการ Net Zero ให้กับนักท่องเที่ยวได้ถ้าประเทศไทยมีความพร้อมจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ต่างชาติ กลุ่มพรีเมี่ยมมากขึ้น"
ทั้งนี้ มูลค่าของราคาของคาร์บอนเครดิตนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคาร์บอนเครดิต อย่างคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะราคาถูกกว่าคาร์บอนเครดิตที่อยู่ในภาคชุมชน ซึ่งหายากกว่าและต้องมีการจองล่วงหน้า ในขณะเดียวกันภาคป่าไม้นั้นเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกซึ่งหาได้ยากและมีราคาที่สูงมากกว่าคาร์บอนเครดิตจากชุมชนอีกด้วย คาร์บอนเครดิตภาคการท่องเที่ยวจะอยู่ที่การตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่ามีความพอใจมากน้อยแค่ไหนในการขาย โดยราคาจะอยู่ระหว่าง 50-200 บาทต่อตันคาร์บอน (tCO2)
การตื่นตัวเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Conference of the Parties : COP โดยครั้งล่าสุด คือ COP27 ประเทศไทยได้ร่วมประชุมและนำเสนอสิ่งที่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ 10% ต่อจีดีพี แต่การท่องเที่ยวนั้นยังมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น เครื่องบิน และน้ำมันในการเดินทางซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งสิ้น รวมถึงไฟฟ้าทุกหน่วยที่ใช้ก็ปล่อยคาร์บอน
"เป็นสิ่งที่ยากมากในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จึงมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่จะการคำนวณออกมา และ ส่งเสริมโครงการที่ผลิตคาร์บอนเครดิตให้ มีการผลิตที่มากพอที่จะนำมา off set ในแพลตฟอร์ม แลกเปลี่ยนกับคนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกไปที่ไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้อีกด้วย"
วสุมน เนตรกิจเจริญนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือThai Ecotourism and Adventure Travel Association (TEATA) กล่าวว่า การเจาะตลาดใหม่ในการท่องเที่ยว ภายใต้ BCGยกตัวอย่างเส้นทาง ภูเก็ตและกระบี่ เป็นเส้นทางที่ได้การรับรองให้กับนักท่องเที่ยว โดยใช้แอพพลิเคชั่นให้เกิดประโยชน์ และมีการออกแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการโดยนักท่องเที่ยวยังได้ประสบการณ์ที่ดีและช่วยโลกได้มากขึ้นอีกด้วย
“ในขณะเดียวกันผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตที่จะชดเชยให้เป็นศูนย์ ถ้าเฉลี่ยจริงๆราคาไม่ได้แพงตกคนละไม่กี่บาทไม่ต่างจากการทำประกันการท่องเที่ยวถือเป็นต้นทุนที่ถูกลงกว่าเดิมมากและในการช่วยโลกให้น่าอยู่และยั่งยืนกว่าเดิม”
จากนี้ไปการท่องเที่ยวจะต้องโจทย์เดิมนั่นคือความเพลิดเพลิน สนุกสนานแต่การรู้ว่าเที่ยวแล้วปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่และจะชดเชยได้อย่างไร คือการเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวแบบปกติให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้