‘ภาวะโลกเดือด’ รับไม้ต่อจาก ‘โลกร้อน’ คนจะตายจากอากาศเพิ่มขึ้น
หมดยุค “โลกร้อน” เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” เลขาฯ UN กร้าว ผู้นำทุกประเทศต้องตื่นตัว-เร่งแก้ไขทันที หลัง “ยุโรป” แตะ 40 องศา ทำลายสถิติสู่เดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี ชี้ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ
Key Points:
- สิ้นยุคโลกร้อน เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” เลขาธิการยูเอ็นประกาศในที่ประชุมหลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ “WMO” เปิดเผยถึงวิกฤติสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ โดยระบุว่า เดือนกรกฎาคมปี 2023 มีแนวโน้มที่จะเป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา
- โลกในขณะนี้คล้ายกับ “เตาอบ” เพราะถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล นี่คือหายนะของโลกที่ผู้นำทุกประเทศต้องเร่งหาทางออก นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปภาวะโลกเดือดไม่ใช่เรื่องที่รอได้อีกแล้ว
- คลื่นความร้อนที่มากขึ้นจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศอีกมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและประชากรผู้สูงอายุที่อาศัยในพื้นที่เมือง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงกว่าพื้นที่ชนบท
เราอยู่กับคำว่า “ภาวะโลกร้อน” มาหลายสิบปี แต่ก็เกิดเป็นกระแสได้เพียงครั้งคราว เช่นการเคลื่อนไหวของ “เกรตา ทุนเบิร์ก” (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปี ณ ขณะนั้น ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกตระหนักถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งแก้ไข-ผลักดันเป็นวาระสำคัญ
การเคลื่อนไหวของ “เกรตา” ครั้งนั้นทำให้หลายคนกลับมาเพ่งมองถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ระยะหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเวลาผ่านไป “ภาวะโลกร้อน” ก็เป็นเพียงปัญหาที่ดูจะไกลตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่หลายประเทศกำลังเผชิญต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมาวิกฤติสิ่งแวดล้อมไม่เคยจางหายไป ปัญหาที่สะสมหมักหมมจากการกระทำของมนุษย์ค่อยๆ ผลิดอกออกผลมากขึ้น และดูเหมือนว่า หลายๆ อย่างจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ด้วย ในที่นี้ รวมถึงการเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” ตามที่เลขาธิการสหประชาชาติ หรือ “ยูเอ็น” กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ศักราชใหม่ในยุค “ภาวะโลกเดือด” แทน
- ร้อนสุดในรอบ 120,000 ปี และนี่เป็นเพียง “จุดเริ่มต้น”
อันโตนิโอ กูเตียเรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ “ยูเอ็น” กล่าวถึงประเด็นภาวะโลกเดือดขึ้นในที่ประชุมภายหลังทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยระบุว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากำลังจะถูกบันทึกสถิติว่า เป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในโลก
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บบันทึกข้อมูล ขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากมลพิษและแสงแดดซึ่งกำลังทำหน้าที่ปกคลุมโลกราวกับกระจกสะท้อนความร้อนกลับมายังพื้นผิว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาพอากาศเลวร้ายถึงขีดสุด
ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ละเว้นพื้นที่ใดในโลก หากแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้กระจายไปทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงกัน ทั้งอเมริกาเหนือ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฤดูร้อนที่โหดร้ายสำหรับทุกคน และอาจเรียกได้ว่า นี่คือ “หายนะของโลก” ซึ่งทั้งหมดนี้มีหลักฐานยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ชัดเจนทั้งสิ้น ที่ผ่านมาได้มีการคาดการณ์-ย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นกว่าเดิม
กูเตียเรสเน้นย้ำว่า ไม่มีเวลาแก้ตัวสำหรับเรื่องนี้ ไม่มีเวลาให้รอคอยอีกแล้ว เขาเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประเทศและนักการเมืองดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด อากาศที่ทำให้ผู้คนหายใจลำบากขึ้น แลกกับเม็ดเงินจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการเฉยเมยต่อสภาพอากาศเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้”
เขาให้ความเห็นว่า หากเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกปรับตัวสูงขึ้นอีก ที่ผ่านมาหลายประเทศได้มีความพยายามเปลี่ยนแปลง-ลดใช้พลังงานหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทดแทนด้วยพลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น “ความพยายาม” ที่ผ่านมาก็อาจจะยังไม่เพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่รวดเร็วในตอนนี้
ด้าน “คาร์สเทน เฮาสไตน์” (Karsten Haustein) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (Leipzig University) วิเคราะห์ว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี โดยนับย้อนไปถึงยุคน้ำแข็ง นัยของอากาศที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้หมายความว่า โลกของเรากำลัง “ป่วยไข้” ความร้อนที่กระทบถึงภาวะเจ็บป่วยและทำให้มนุษย์เสียชีวิตอาจมาถึงในไม่ช้า
- สถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน และอนาคตที่จะทำให้มีคนตายจาก “ความร้อน”
ในรอบปีที่ผ่านมาหลายประเทศต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น “สหรัฐ” ที่บริเวณตอนใต้ของประเทศมีอุณหภูมิสูงแตะ 37 องศาเซลเซียสกินเวลานานติดต่อกันหลายสัปดาห์ เมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนาอุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 19 วัน ขณะที่ “จีน” สร้างสถิติใหม่ทะลุ 52 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้าน “กรีซ” “อิตาลี” “โครเอเชีย” และ “แคนาดา” มีไฟป่ามากกว่า 1,000 จุด กินพื้นที่รวมทั้งสิ้น 46,000 ตารางไมล์ หรือคิดเป็นพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร
ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นยังทำให้เกิดภัยพิบัติอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทำให้เกิดฝนตกรุนแรงและไม่แน่นอน นำไปสู่น้ำท่วมฉับพลันซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในจีน เกาหลีใต้ บราซิล และแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ ปีที่ผ่านมา “ยุโรป” มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนกว่า 60,000 ราย ตามรายงานของ “ดิ อินดิเพนเดนต์” (The Independent) โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มคนเปราะบางและผู้สูงอายุ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หลังจากนี้การเสียชีวิตจากความร้อนจะเพิ่มขึ้นอีก
“มารินา โรมาเนลโล” (Marina Romanello) นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London หรือ UCL) กล่าวว่า ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทำลาย “รากฐานทางสุขภาพ” ทำให้เกิดภาระในระบบรักษาพยาบาลมากขึ้น โดยเฉพาะบางประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตจากความร้อนของผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นราว 2 ใน 3 โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ยังผลักให้ประเทศยากจนต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารถึงขีดสุด โดยเฉพาะในพื้นที่แอฟริกาที่มีอากาศร้อนแห้งแล้งอยู่แล้ว ต่อไปจะต้องเผชิญกับความร้อนจัดที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยสถาบันพลังงานสะอาดชี้ว่า ทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์ที่เป็นผลสะเทือนจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ยักษ์ใหญ่ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำมาต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษและผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติสภาพอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากสถิติในปี 2022 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกมีผลกำไรเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า โดยเม็ดเงินจำนวนนี้ถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสะอาดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
อ้างอิง: Bangkokbiznews, CNBC, The Independent, The Guardian